น้ำมันละหุ่ง (Castor oil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

น้ำมันละหุ่ง(Castor oil) เป็นน้ำมันพืชที่ได้จากกระบวนการบีบอัดเมล็ดละหุ่ง มีลักษณะใสถึงเหลืองอ่อน มีรสและกลิ่นเฉพาะตัว จุดเดือดอยู่ที่ 313 องศาเซลเซียส(Celsius) น้ำมันละหุ่งเป็นไขมันที่มีโครงสร้างแบบไตรกลีเซอไรด์ที่มีกรดไขมัน 3 ตัวเป็นองค์ประกอบ คือ

  • Ricinoleic acid 25 – 95%
  • Oleic acid 2– 6% และ
  • Linoleic acid 1– 5%

น้ำมันละหุ่ง ถูกใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าหลายประเภท อาทิ สบู่ น้ำมันหล่อลื่น น้ำมันเบรก สี สารเคลือบเงา หมึก สารขัดเงา ไนลอน ยารักษาโรค น้ำหอม นอกจากนี้น้ำมันละหุ่งยังถูกแปลงโครงสร้างเพื่อใช้แต่งกลิ่นอาหารและของหวาน เช่น ลูกกวาด น้ำมันละหุ่งยังมีฤทธิ์ระงับการเติบโตของ เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา และเกษตรกรในอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตน้ำมันละหุ่งเป็นอันดับต้นๆของโลก ได้นำน้ำมันละหุ่งมาชะลอการเน่าเปื่อยของ ข้าวจ้าว ข้าวสาลี และของถั่วเขียว

ประโยชน์ทางยาของน้ำมันละหุ่งมีอะไรบ้าง?

น้ำมันละหุ่ง

ประโยชน์ทางยาของน้ำมันละหุ่ง เช่น

1. น้ำมันละหุ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก ด้วยมีฤทธิ์กระตุ้นให้ลำไส้มีการบีบตัว และช่วยหล่อลื่นกากอาหารให้เคลื่อนตัวได้ง่ายยิ่งขึ้น แต่ควรใช้น้ำมันละหุ่งเป็นเพียงครั้งคราวไป ไม่ควรใช้ประจำ นอกจากนี้ทางเภสัชกรรมได้นำน้ำมันละหุ่งมาทำปฏิกิริยากับสาร Ethylene oxide ได้สารลดแรงตึงผิวที่มีชื่อว่า Polyethoxylated castor oil อุตสาหกรรมยาใช้สารประกอบนี้เป็นส่วนผสมของยาแผนปัจจุบันหลายชนิด เช่น Miconazole, Paclitaxel, Docetaxel, Sandimmune/ Cyclosporine , Nelfinavir, Propofol, Diazepam, Vitamin-K injection, และ Ixabepilone

2. สามารถใช้น้ำมันละหุ่งทาผิวหนัง เพื่อป้องกันการสูญเสียความชุ่มชื้น ด้วยคุณสมบัตินี้ จึงมีการนำน้ำมันละหุ่งมาผสมในเครื่องสำอางประเภท โลชั่น(Lotion) เมคอัพ(Make up) และคลีนเซอร์(Cleanser)

3. การทาน้ำมันละหุ่งที่บาดแผล จะเร่งการสมานบาดแผลให้หายเร็วขึ้น ด้วยน้ำมันละหุ่งมีฤทธิ์ต้าน เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา

4. องค์ประกอบในน้ำมันละหุ่งมีกรด Ricinoleic acid ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ บรรเทาปวด ด้วยกลไกกระตุ้นการหลั่งสาร Prostaglandin E2 ทำให้หลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงใช้ทาบรรเทาอาการปวดในโรคข้อรูมาตอยด์ และบำบัดอาการทางผิวหนังของโรคสะเก็ดเงิน

5. ใช้บรรเทาการเกิดสิว ที่มีสาเหตุจากแบคทีเรีย ด้วย Ricinoleic acid สามารถต่อต้านแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของสิว

6. ใช้ต่อต้านเชื้อราชนิด Candida albicans ซึ่งอยู่ในช่องปาก การทดลองทาง ทันตกรรมพบว่า เชื้อราช่องปาก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

7. บำรุงเส้นผมและลดรังแค ด้วยน้ำมันละหุ่งจะมีฤทธิ์หล่อลื่นเส้นผมให้นุ่ม และเงางาม และยังมีฤทธิ์ลดการอักเสบ จึงนำมาใช้รักษารังแคที่มีสาเหตุจากหนังศีรษะแห้ง

คำเตือนการใช้น้ำมันละหุ่งมีอะไรบ้าง?

คำเตือนการใช้น้ำมันละหุ่ง มีดังนี้ เช่น

  • ในบางประเทศ ใช้น้ำมันละหุ่งกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ เพื่อกระตุ้นการคลอด แต่ทางคลินิก มีคำเตือนให้หลีกเลี่ยง/ห้ามการรับประทานน้ำมันละหุ่ง ขณะตั้งครรภ์
  • ระวังภาวะท้องเสียจากการรับประทานน้ำมันละหุ่งที่ผิดสัดส่วนหรือมากเกินไป
  • ระวังอาการแพ้น้ำมันละหุ่งที่ใช้ทาผิวหนัง ด้วยผิวหนังคนเรามีการตอบสนองต่อ สารประกอบต่างๆได้ไม่เหมือนกัน

ควรใช้น้ำมันละหุ่งทาผิวหนัง-ผิวหน้าอย่างไร?

เนื่องจากน้ำมันละหุ่งมีความหนืด ทำให้หากทาน้ำมันละหุ่งโดยตรง 100% อาจทำให้รู้สึกเหนอะหนะตรงผิวหนัง ก่อนทาน้ำมันละหุ่งจึงควรผสมร่วมกับ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันมะกอก หรือ น้ำมันอัลมอนด์ เพื่อให้ได้ความหนืดที่เหมาะสมก่อนทาผิวหนัง

เก็บน้ำมันละหุ่งอย่างไร?

ควรเก็บน้ำมันละหุ่ง ดังนี้ เช่น

  • ควรเก็บน้ำมันละหุ่งภายใต้อุณหภูมิ 10-25 องศาเซลเซียส ไม่แนะนำให้เก็บในตู้เย็น การใส่ตู้เย็นจะทำให้น้ำมันละหุ่งหนืด และแข็งตัว
  • เก็บน้ำมันละหุ่งในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น
  • เก็บน้ำมันละหุ่งให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • ไม่บริโภคหรือใช้น้ำมันละหุ่งที่หมดอายุ หรือที่มีกลิ่นเหม็นหืน
  • ไม่ทิ้งน้ำมันละหุ่งลงในแหล่งน้ำ หรือคูคลองตามธรรมชาติ

น้ำมันละหุ่งมีจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าใดบ้าง?

ภายในประเทศเรา จะพบเห็นการจัดจำหน่ายน้ำมันละหุ่งในรูปแบบน้ำมันสกัดเย็น ภายใต้ชื่อการค้าว่า Healthy choice, Cococare, Castor oil KC

ก่อนซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันละหุ่งมาใช้ ควรตรวจสอบ เลขที่ผลิต วัน เดือน ปีที่ผลิต และวันหมดอายุ

กรณีใช้น้ำมันละหุ่งในรูปแบบเครื่องสำอาง สามารถดู เลขจดแจ้งที่ผู้ผลิตได้รับจาก อย. (สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข) ที่เว็บไซด์ข้างล่างนี้

http://164.115.28.102/FDA_SEARCH_CENTER/PRODUCT/FRM_SEARCH_CMT.aspx

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Castor_oil [2018,July14]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Kolliphor_EL [2018,July14]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Ricinoleic_acid [2018,July14]
  4. http://www.stylecraze.com/articles/amazing-benefits-of-castor-oil/#HealsInflamedSkin [2018,July14]
  5. https://www.healthline.com/nutrition/castor-oil [2018,July14]
  6. https://www.healthline.com/health/castor-oil-for-face#uses [2018,July14]
  7. https://www.rd.com/health/wellness/castor-oil-uses/ [2018,July14]