น้ำท่วมสมอง ? (ตอนที่ 2)

น้ำท่วมสมอง-2

      

      โรคนี้ไม่เพียงส่งผลต่อสุขภาพผู้ป่วยแล้วยังมีผลกระทบต่อครอบครัว ต่อสังคม และล่าสุดทางโรงพยาบาลศิริราชมีการค้นพบองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับอาการที่พบบ่อยมาก และได้รับการตีพิมพ์รายงานในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติเป็นครั้งแรกของโลก ได้แก่ เสียงแหบ กลืนสำลัก ซึ่งความเข้าใจอาการเหล่านี้จะช่วยในการวินิจฉัยผู้ป่วยได้มากขึ้นด้วย

      หลังการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยที่เดินไม่ได้มาเป็นเวลานาน จะมีกล้ามเนื้อขาลีบและอ่อนกำลัง หลังผ่าตัดแล้วสมองจะสามารถสั่งการมาที่ขาให้เดินแล้วก็ตาม แต่หากกล้ามเนื้ออ่อนกำลังไม่สามารถเดินได้ทันที ต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อฝึกยืน ฝึกเดิน พยามยามและอดทนทำอย่างต่อเนื่องหลายเดือนจึงเริ่มเห็นผล ที่สำคัญคือพบแพทย์เพื่อติดตามอาการตามนัดทุกครั้ง

      ระบบโพรงสมอง (Ventricular system) ประกอบด้วยโพรงสมอง 4 อัน ที่เชื่อมต่อกันด้วยช่องทางเดินที่แคบ โดยปกติน้ำในโพรงสมองจะไหลผ่านโพรงสมองและไหลมาออกที่แอ่งตรงท้ายทอย (Cisterns)

      โดยน้ำในโพรงสมอง หรือ น้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง หรือ น้ำไขสันหลัง หรือ น้ำสมอง หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า ซีเอสเอฟ (Cerebrospinal fluid = CSF) จะมีหน้าที่สำคัญ ได้แก่

  • ช่วยพยุงสมอง ทำให้เนื้อสมองลอยตัว ป้องกันแรงกระแทกต่อสมอง (Shock absorber)
  • ช่วยส่งสารอาหารเลี้ยงสมองและระบายของเสียบางส่วนจากสมอง
  • ปรับปริมาตรเลือดภายในกะโหลกศีรษะและไขสันหลัง (Intracranial blood volume) ที่มีการเปลี่ยนแปลง

      ดังนั้นความสมดุลระหว่างการสร้างน้ำและการดูดซึมของน้ำในโพรงสมองจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะร่างกายจะมีการสร้างน้ำในโพรงสมองอยู่ตลอดเวลา หากมีการไหลหรือการดูดซึมที่ไม่ดี ก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำในโพรงสมองที่สะสมมากเกินไป ซึ่งจะมีผลทำให้น้ำในโพรงสมองไปกดน้ำหนักลงบนสมอง เกิดภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง

      ภาวะน้ำคั่งในโพรงสมอง (Hydrocephalus) เป็นความไม่สมดุลของน้ำในโพรงสมอง เกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ

  • ชนิดไม่มีการอุดตันของการไหลเวียนของในโพรงสมองไหล (Nonobstructive / Communicating hydrocephalus) เกิดเมื่อน้ำในโพรงสมองไหลออกจากโพรงสมอง (Ventricles) ไปยังโพรงกระดูกสันหลัง (Spinal canal) แต่ไม่มีการดูดซึมเข้าเนื้อเยื่อรอบๆ สมองและไขสันหลังเหมือนกรณีปกติ
  • ชนิดมีการอุดตันของการไหลเวียนของน้ำในโพรงสมองไหล (Obstructive / Noncommunicating hydrocephalus) เกิดเมื่อน้ำในโพรงสมองไหลไปมาหรือไหลออกจากช่องสมองไม่ปกติ เนื่องจากมีการอุดตัน เช่น สมองมีรูปร่างผิดปกติหรือมีช่องที่แคบเกิน

แหล่งข้อมูล:

  1. โรคน้ำคั่งในโพรงสมองในผู้สูงอายุ.https://mgronline.com/qol/detail/9610000027786 [2018, May 5].
  2. Classification and Types of Hydrocephalus - Topic Overview. https://www.webmd.com/brain/tc/classification-of-hydrocephalus-topic-overview [2018, May 5].
  3. Hydrocephalus. https://www.medicinenet.com/hydrocephalus/article.htm#how_is_hydrocephalus_diagnosed [2018, May 5].