น้ำตาลหลอก (ตอนที่ 1)

น้ำตาลหลอก-1

หลายคนที่รักสุขภาพและต้องการควบคุมน้ำหนักจะทราบกันดีว่าการรับประทานน้ำตาลมากไปอาจจะเสี่ยงทำให้น้ำหนักไม่ลงตามเป้าหมาย ดังนั้นบางคนอาจจะหลีกเลี่ยงน้ำตาลและหันไปหาน้ำตาลเทียม หรือสารให้ความหวานแทน เพื่อจะได้ทานได้อย่างสบายใจและไม่รู้สึกผิด โดยที่บางคนยังคิดว่าดีเสียอีกจะได้ไม่อ้วน แต่รู้หรือไม่ว่าน้ำตาลเทียมบางชนิดรับประทานมากไปก็ไม่ดีอย่างที่คิด

สารให้ความหวานที่นิยมใช้กันมีหลายชนิด แต่ชนิดที่นิยมใช้ตามท้องตลาด คือ “แอสปาร์เทม” (Aspartame) ซึ่งเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาลทำมาจากสารเคมีเป็นส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นผลึกสีขาว ไม่มีกลิ่น ละลายน้ำได้ดี มีรสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลมากที่สุด อีกทั้งยังให้ความหวานประมาณ 200 เท่า ของน้ำตาลทราย แถมยังให้พลังงาน 0 กิโลแคลอรี่ และได้รับความนิยมในการนำมาผสมในเครื่องดื่มและอาหารหลากหลายกว่า 5,000 ชนิด ที่วางขายทั่วโลก

แอสปาร์เทม (Aspartame๗ ประกอบไปด้วยสารเคมี คือ กรดแอสปาร์ติก (Aspartic acid) และฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับแอสปาร์เทม บางส่วนจะแตกตัวออกเป็นเมธานอล (Methanol)

ผลิตภัณฑ์หลายชนิดที่มีฉลากกำกับว่า “ปราศจากน้ำตาล” (Sugar-free) มักใช้น้ำตาลเทียมในการให้ความหวานแทนน้ำตาล ซึ่งตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้แก่

  • ไดเอ็ทโซดา (Diet soda)
  • ไอศกรีมปราศจากน้ำตาล (Sugar-free ice cream)
  • น้ำผลไม้ที่ลดแคลอรี่ (Reduced-calorie fruit juice)
  • หมากฝรั่ง (Gum)
  • โยเกิร์ต (Yogurt)
  • ลูกกวาดที่ไม่มีน้ำตาล (Sugarless candy)

แอสปาร์เทมเป็นสารให้ความแทนน้ำตาลที่นิยมใช้กันมาก ในสหรัฐอเมริกามีการอนุญาตให้ใช้แอสปาร์เทมมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2523 โดยปริมาณแอสปาร์เทมที่ควรได้รับแต่ละวัน (The acceptable daily intake = ADI) นั้น คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (The Food and Drug Administration = FDA) ได้กำหนดให้อยู่ที่ 50 มิลลิกรับต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ในขณะที่ The European Food Safety Authority (EFSA) ได้กำหนดให้อยู่ที่ 40 มิลลิกรับต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน (Phenylalanine) หรือที่เรียกว่า โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria = PKU) ไม่ควรใช้แอสปาร์เทม เพราะคนเหล่านี้จะมีกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีนในเลือดสูง หากร่างกายได้รับสารเคมีเหล่านี้เพิ่มอีก ก็จะไม่สามารถกำจัดออกไปจากร่างกายได้ และกลายเป็นพิษในที่สุด

ในขณะที่ผู้ใช้ยาในการรักษาโรคจิตเภท (Schizophrenia) ก็ควรหลีกเลี่ยงแอสปาร์เทมด้วย เพราะสารฟีนิลอะลานีนในแอสปาร์เทมอาจเป็นสาเหตุทำให้ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อ (Tardive dyskinesia = TD) ซึ่งเป็นผลข้างเคียงของการใช้ยา

[Tardive dyskinesia เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติของการเคลื่อนไหวร่างกายที่ไม่สามารถควบคุมได้ เกิดจากการใช้ยารักษาโรคจิตเป็นระยะเวลานานอย่างน้อย 3 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวแบบกระตุกไม่เป็นจังหวะ ค่อนข้างเร็วและคาดคะเนไม่ได้ เกิดขณะพักหรือขณะที่ตั้งใจจะเคลื่อนไหว มีหน้าตาบูดบึ้ง ขมวดคิ้ว แก้มพอง มีการกระพริบตา เปลือกตากระตุก เคี้ยว สูดปาก เลียและดูดริมฝีปาก แลบลิ้นออกมาคล้ายการจับแมลง มีการขยับขากรรไกรทั้ง 2 ข้าง]

แหล่งข้อมูล:

  1. "แอสปาร์เทม" น้ำตาลเทียมยอดฮิต เสี่ยงถึงขั้นเป็นตัวการก่อมะเร็ง!? https://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000091495 [2017, December 4].
  2. The Truth About Aspartame Side Effects. https://www.healthline.com/health/aspartame-side-effects [2017, December 4].
  3. Aspartame. https://www.cancer.org/cancer/cancer-causes/aspartame.htmx [2017, December 4].