ระวัง ! น้ำดื่มปนเปื้อน (ตอนที่ 8)

เราสามารถลดการสัมผัสกับพิษตะกั่วได้โดย

  • ดูแลบ้านให้ปลอดฝุ่นให้มากที่สุด
  • ล้างมือก่อนกินอาหาร
  • อย่ากินหรือดื่มในบริเวณสถานที่ที่อาจมีฝุ่นตะกั่วปนเปื้อน
  • ทิ้งของเล่นกรณีที่ไม่แน่ใจว่าสีที่ใช้กับของเล่นจะมีตะกั่วปนเปื้อนหรือไม่
  • ปล่อยให้น้ำไหลผ่านก๊อกน้ำสักพักก่อนนำน้ำมาดื่มหรือทำอาหาร
  • พยายามหลีกเลี่ยงอาหารกระป๋องที่บัดกรีด้วยตะกั่ว
  • ก่อนเปิดขวดไวน์ที่หุ้มด้วยแผ่นตะกั่ว (Lead foil) ให้เช็ดขอบและคอขวดด้วยผ้าชุบน้ำมะนาว น้ำส้ม หรือไวน์
  • อย่าเก็บไวน์ เหล้า น้ำสลัดที่มีน้ำส้มสายชูเป็นส่วนผสมไว้ในขวดคริสตัล (Lead crystal decanters) นานเกินไป เพราะตะกั่วอาจซึมลงสู่ของเหลวได้

การตรวจเลือดสามารถบอกได้ถึงพิษของตะกั่ว หากพบสารตะกั่วอยู่ระหว่า ง 2- 10 ไมโครกรัมต่อเดซิลิตร (mcg/dL) ควรปรึกษาแพทย์ นอกจากนี้อาจทำการทดสอบโดย

  • การตรวจไขกระดูก (Bone marrow biopsy)
  • การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete blood count = CBC) และการแข็งตัวของเลือด (Coagulation studies)
  • การตรวจ Erythrocyte protoporphyrin
  • การตรวจระดับธาตุเหล็ก
  • การเอ็กซเรย์กระดูกแบบยาว (Long bones) อย่างกระดูกรยางค์ และช่องท้อง

การรักษาพิษตะกั่วอาจรักษาด้วยการทำคีเลชั่น (Chelation therapy) ซึ่งเป็นกระบวนการในการเอาพิษตะกั่วออกจากร่างกายได้

[คีเลชั่น เป็นกระบวนการในการล้างพิษหลอดเลือด ผ่านทางน้ำเกลือที่มีสารประกอบประเภทกรดอะมิโน ที่เรียกว่า EDTA (Ethylenediaminetetraacetic acid) ผสมกับวิตามินและแร่ธาตุ

โดย EDTA ทำหน้าที่สำคัญในการจับสารโลหะหนัก ทำให้เส้นเลือดมีความยืดหยุ่นดีขึ้น ลดการสะสมของสารพิษที่เกาะตามผนังหลอดเลือด หรือสารโลหะหนักส่วนเกินที่ตกค้างในน้ำเลือด ซึ่งทำให้เกิดปัญหาผนังหลอดเลือดอักเสบ ขรุขระ เส้นเลือดแข็งหรือตีบแคบ อุดตัน ส่งผลให้ระบบใหลเวียน การลำเลียงไม่ดี ก่อให้เกิดปัญหาโรคต่างๆมากมายเช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด และโรคความเสื่อมตามอวัยวะต่างๆ]

ผู้ที่มีปัญหาพิษตะกั่วจะมีความเสี่ยงในปัญหาสุขภาพต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ทำให้ทำหน้าที่ได้ไม่ดี นอกจากนี้ระบบอื่นในร่างกายก็มีผลกระทบด้วย เช่น ไตและหลอดเลือด

บางคนอาจมีปัญหาเรื่องสมองถูกทำลายอย่างถาวร โดยเฉพาะในเด็กที่แม้จะได้รับสารตะกั่วเพียงเล็กน้อยก็สามารถกระทบต่อสมาธิและไอคิวของเด็กได้

แหล่งข้อมูล

  1. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2014, May 13].
  2. Lead poisoning. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lead-poisoning/basics/definition/con-20035487 [2014, May 13].