ระวัง ! น้ำดื่มปนเปื้อน (ตอนที่ 6)

เพราะคลอรีนเป็นก๊าซพิษ จึงถูกใช้เป็นอาวุธสงครามในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามอิรัก เนื่องจากคลอรีนมีน้ำหนักมากกว่าอากาศ ดังนั้นคลอรีนจึงมักลอยอยู่ต่ำๆ

การป้องกันตัวเองจากสารคลอรีน สามารถทำได้โดย

  • ออกจากบริเวณที่มีการรั่วซึมของคลอรีนไปยังที่ๆ มีอากาศบริสุทธิ์ ไปอยู่ในที่สูงกว่า เพราะคลอรีนจะลอยต่ำ
  • ถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนคลอรีนออกทันที ถ้าเป็นเสื้อสวมศีรษะควรตัดเสื้อออกแทนที่จะถอดออกทางด้านศีรษะ
  • ล้างทำความสะอาดมือและร่างกายด้วยสบู่โดยเร็ว

เพราะไม่มียาทำลายพิษคลอรีนโดยตรง สิ่งที่ทำได้คือ การพยายามเอาคลอรีนออกจากร่างกายให้เร็วที่สุดและใช้เครื่องช่วยทางการแพทย์ เช่น เครื่องช่วยหายใจกรณีหายใจขัด

สารพิษตัวที่ 4 ได้แก่ ตะกั่ว หรือ Lead เป็นสารที่มีพิษมาก ใช้กันแพร่หลายในน้ำมันเชื้อเพลิงและสีทาบ้าน เราสามารถพบตะกั่วได้ทั่วไปทั้งในดิน ฝุ่นละออง ของเด็กเล่น สีทาบ้านรุ่นเก่า ที่แย่ก็คือ เราไม่สามารถเห็น รับรู้รส หรือได้กลิ่นของตะกั่ว แต่เมื่อไรที่คนกินหรือหายใจเอาตะกั่วเข้าไปจะทำให้เกิดปัญหากับร่างกาย

เราอาจพบตะกั่วได้ใน

  • สีทาบ้านรุ่นเก่าที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว ซึ่งจะปล่อยพิษตะกั่วออกมาในอากาศ (ในสหรัฐอเมริกาสีทาบ้านที่มีส่วนผสมของตะกั่วถูกห้ามผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ.2521)
  • ของเล่นและเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้สีที่มีส่วนผสมของสารตะกั่ว หรือใช้สีที่ไม่ได้มาตรฐาน
  • ท่อประปาและก๊อกน้ำที่เชื่อมด้วยตะกั่ว (Lead solder)
  • ดินที่อยู่ใกล้ถนนหรือบ้านที่ได้รับผลจากไอเสียรถยนต์
  • เครื่องปั้นดินเผา จานชามเซรามิค ภาชนะอาหารที่มีส่วนผสมของตะกั่วหรือดีบุกเป็นสำคัญ
  • แบตเตอรี่
  • เครื่องสำอางบางชนิด เช่น ผงทาขอบตาที่เรียกว่า Kohl
  • สำหรับเด็กอาจได้รับตะกั่วเข้าสู่ร่างกายโดยการเอาของเล่นเข้าปาก การเอานิ้วมือที่จับถูกวัตถุที่ทำด้วยตะกั่วเข้าปาก

อาการพิษของตะกั่วสามารถกระทบต่ออวัยวะหลายส่วนในร่างกาย การถูกพิษมากเพียงครั้งเดียวก็ทำให้เกิดอาการรุนแรงได้ อย่างไรก็ดีการสะสมของสารพิษตะกั่วสามารถเกิดขึ้นได้ทีละน้อยโดยที่เราไม่ทันสังเกต

ทั้งนี้ ในเด็กที่ถูกพิษตะกั่วแม้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็อาจมีผลต่อพัฒนาการทางจิตใจ (Mental development) ซึ่งจะยิ่งแย่ลงหากระดับตะกั่วในเลือดมีมากขึ้น

แหล่งข้อมูล

  1. Facts about Chlorine. http://www.bt.cdc.gov/agent/chlorine/basics/facts.asp [2014, May 11].
  2. Lead poisoning. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/002473.htm [2014, May 11].
  3. Lead poisoning. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/lead-poisoning/basics/definition/con-20035487 [2014, May 11].