ระวัง ! น้ำดื่มปนเปื้อน (ตอนที่ 3)

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization = WHO) ได้จัดให้สารหนูเป็น 1 ใน 10 สารเคมีที่มีผลกระทบต่อสุขภาพคน และจำกัดให้มีสารหนูปนเปื้อนในน้ำดื่มได้ไม่เกิน 0.01 มิลลิกรัมต่อลิตร (mg/L) หรือ 10 ppb (ปริมาณตัวถูกละลายในสารละลายพันล้านส่วน = parts per billion = ppb) โดย WHO ได้ประเมินว่าที่ระดับปนเปื้อนนี้จะมีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งผิวหนังตลอดชีวิตได้ที่โอกาส 6 ใน 10000

การตรวจพบสารหนูอาจทำได้โดยการตรวจเลือด ปัสสาวะ เส้นผม และเล็บมือ โดยการตรวจปัสสาวะเป็นวิธีที่น่าเชื่อถือที่สุดซึ่งใช้เวลา 24–48 ชั่วโมง ส่วนการทดสอบเส้นผมและเล็บอาจใช้วัดระดับสารหนูที่สะสมตลอด 6–12 เดือนที่ผ่านมา

การกำจัดพิษสารหนูออกจากร่างกายจะใช้วิธีทางเคมีและการสังเคราะห์โดยใช้ยา Dimercaprol และ Dimercaptosuccinic acid ซึ่งเป็นสารคีเลต (Chelating agent) ที่ใช้รักษาภาวะเป็นพิษจากโลหะหนัก เพื่อแยกสารหนูออกจากโปรตีนเลือด แต่ก็มีผลข้างเคียงที่สำคัญคือ การมีความดันโลหิตสูง (Hypertension)

สารพิษตัวที่ 2 ได้แก่ ทองแดง หรือ Copper ซึ่งเป็นโลหะสีแดงที่พบตามธรรมชาติในหิน ดิน น้ำ ตะกอน และอากาศ และยังพบได้ในต้นไม้และสัตว์ เป็นธาตุที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิตเช่นคนและสัตว์อื่น แต่หากมีมากเกินไปในร่างกายก็ทำให้เกิดพิษได้

ทองแดงเป็นโลหะที่ใช้ผสมในอุตสาหกรรมทำลวดสายไฟ (Wire) แผ่นโลหะ ท่อ และผลิตภัณฑ์โลหะอื่นๆ สารประกอบทองแดงเป็นที่นิยมใช้กันในภาคการเกษตรเพื่อฆ่าโรคของพืช เช่น โรคเชื้อราที่ขึ้นเป็นดวง (Mildew) หรือใช้บำบัดน้ำ และรักษาเนื้อไม้ หนังสัตว์ และผ้า

ทองแดงสามารถเข้าสู่สิ่งแวดล้อมด้วยการถูกปล่อยจากเหมืองทองแดงและโลหะอื่นๆ จากโรงงานที่ใช้ทองแดงหรือสารประกอบทองแดงในการผลิต

นอกจากนี้ทองแดงในสิ่งแวดล้อมอาจเกิดจากกองขยะ (Waste dumps) น้ำเสีย กระบวนการสันดาปของฟอสซิลและของเสีย การผลิตไม้ การผลิตปุ๋ย และจากแหล่งธรรมชาติอื่นๆ เช่น ภูเขาไฟ การเน่าเปื่อยของพืช การไหม้ของป่า เป็นต้น

เมื่อมีการปล่อยทองแดงลงสู่พื้นดิน จะมีการเกาะติดผิวหน้ากับสารอินทรีย์และอื่นๆ เช่น ดิน ทราย เป็นต้น ทองแดงที่ปล่อยลงสู่น้ำจะมีการตกตะกอนในแม่น้ำ ทะเลสาบ และปากแม่น้ำ ทองแดงที่กระจายออกมาจากโรงหลอมหรือโรงงานผลิตแร่จะกลับสู่พื้นดินด้วยแรงโน้มถ่วงโลก ในฝน หรือหิมะ

นอกจากนี้ยังสามารถพบทองแดงได้ในพืชและสัตว์ อย่างหอยแมลงภู่และหอยนางรม เราอาจได้รับทองแดงผ่านทางอากาศหายใจ น้ำดื่ม อาหารกิน และการสัมผัสกับผิวหนัง การใช้อุปกรณ์ทำครัวที่มีทองแดงเป็นส่วนประกอบ อาจทำให้ทองแดงปนเปื้อนเข้าสู่อาหารได้ด้วย

แหล่งที่ทองแดงจะเข้าสู่ร่างกายได้มากที่สุดก็คือ จากน้ำดื่ม โดยเฉพาะน้ำในตอนเช้าที่ค้างอยู่ในท่อทองแดง (Copper piping) และก๊อกทองเหลือง (Brass faucets) ตลอดทั้งคืน ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงนี้ ควรปล่อยให้น้ำไหลทิ้งไปประมาณ 15-30 วินาที ก่อนนำมาใช้

แหล่งข้อมูล

  1. Arsenic. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs372/en/ [2014, May 8].
  2. Arsenic poisoning. http://en.wikipedia.org/wiki/Arsenic_poisoning [2014, May 8].
  3. Toxic Substances Portal - Copper http://www.atsdr.cdc.gov/phs/phs.asp?id=204&tid=37 [2014, May8].
  4. Copper toxicity. http://en.wikipedia.org/wiki/Copper_toxicity [2014, May 8].