ระวัง ! น้ำดื่มปนเปื้อน (ตอนที่ 1)

การเลือกน้ำดื่มที่สะอาดถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการบริโภคน้ำที่สะอาดและเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่ร่างกายต้องการ แต่รู้หรือไม่ว่า อาจมีสารเคมีอันตรายปนเปื้อนอยู่ในน้ำดื่มได้ โดยที่ตัวกรองที่ใช้อาจไม่สามารถกำจัดออกไป ซึ่งสารเคมีเหล่านี้จะนำไปสู่โรคอันตรายมากมาย และจากการศึกษาพบ 4 สารอันตรายที่พบบ่อยที่สุด คือ

สารหนู ถ้าน้ำที่ดื่มมีปริมาณของสารหนูสูง สามารถทำให้ปอดเสียหายเทียบเท่ากับการสูบบุหรี่นาน 10 ปี แม้ปริมาณปานกลางก็สามารลดประสิทธิภาพการทำงานของปอดได้เช่นกัน

ทองแดง เป็นภัยร้ายที่มักพบปนเปื้อนในน้ำดื่ม เพราะเป็นสารที่ใช้ในท่อน้ำ อาจทำให้เกิดการสะสมของแอมีลอยด์บีตา ซึ่งเป็นโปรตีนที่พับตัวผิดรูปแบบในสมอง จนนำไปสู่โรคอัลไซเมอร์ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ และโรคที่เกี่ยวข้องกับเส้นเลือดในสมอง

คลอรีน เป็นสารเคมีที่ใช้ฆ่าแบคทีเรียในน้ำดื่มและน้ำในสระ แต่น้ำที่ได้รับสารเคมีนี้ สามารถรวมกับสารอินทรีย์ เช่น พืชที่เน่าเปื่อย กลายเป็นไตรฮาโลมีเทน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งระดับสูง

ตะกั่ว โลหะที่สามารถขึ้นในน้ำและเดินทางไปตามสายเครื่องจักรหรือเครื่องยนต์ เสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตและปัญหาไต

ดังนั้น เราจึงควรมาทำความรู้จักกับภัยร้ายเหล่านี้เป็นรายตัวไป

สารพิษตัวแรก ได้แก่ สารหนู หรือ Arsenic เป็นธาตุธรรมชาติที่พบในดินและแร่ สารหนูใช้ในการดูแลรักษาเนื้อไม้ เป็นยาฆ่าแมลง และใช้ในงานอุตสาหกรรม โดยสารหนูสามารถปนเปื้อนอยู่ทั้งในอากาศ น้ำ และดิน

เราอาจได้รับสารหนูโดย

  • การกินอาหาร น้ำ หรืออากาศที่ปนเปื้อน
  • การหายใจเอาฝุ่นละอองหรือเขม่าควันจากไม้ที่มีสารหนู
  • การอยู่ในบริเวณที่มีระดับสารหนูในหินสูง
  • การทำงานที่ต้องทำหรือใช้สารหนู
การถูกพิษสารหนูทำให้มีปัญหากับร่างกาย หากถูกสารพิษในระดับต่ำแต่เป็นระยะเวลานานก็อาจทำให้สีผิวเปลี่ยน เป็นมะเร็งผิวหนังได้ แต่ถ้าถูกสารพิษในระดับสูงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดก็คือ สารหนูที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำใต้ดิน (Contaminated groundwater) ซึ่งมีการพบสารหนูระดับสูงในน้ำใต้ดินหลายประเทศ เช่น อาร์เจนตินา บังคลาเทศ ชิลี จีน อินเดีย เม็กซิโก และสหรัฐอเมริกา

แหล่งข้อมูล

  1. อันตรายที่อาจซ่อนอยู่ในน้ำดื่ม. http://www.dailynews.co.th/Content/Article/218573/อันตรายที่อาจซ่อนอยู่ในน้ำดื่ม [2014, May 6].
  2. Arsenic. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/arsenic.html [2014, May 6].
  3. Arsenic. http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs372/en/ [2014, May 6].