นิ้วล็อก ของฝากจากสมาร์ทโฟน (ตอนที่ 1)

นิ้วล็อก-ของฝากจากสมาร์ทโฟน

นิ้วหัวแม่มือหรือนิ้วโป้งถูกออกแบบตามธรรมชาติให้มนุษย์สามารถหยิบจับ ยึดเกาะ และถือสิ่งของ แต่ทุกวันนี้เราใช้มันไปกับการพิมพ์ แชท กด สัมผัส สไลด์ และกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายบนอุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟนที่ได้กลายเป็นอวัยวะที่ 33 ของมนุษย์ไปเสียแล้ว ดูได้จากความเห็นของวัยรุ่นส่วนหนึ่งเกือบร้อยละ 100 ที่เปิดเผยว่า ชีวิตขาดสมาร์ทโฟนไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ นายแพทย์จตุพล คงถาวรสกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและกล้ามเนื้อ จึงได้กล่าวถึงอาการบาดเจ็บของนิ้วหัวแม่มือ อันเนื่องจากการใช้งานมากเกินไปว่า มากกว่าร้อยละ 50 ของคนไข้ในโรงพยาบาลใกล้อาคารสำนักงานในเมืองจะมาพบแพทย์ด้านกระดูกและกล้ามเนื้อด้วยอาการผิดปกติของนิ้วและข้อมือ เนื่องจากการใช้งานสมาร์ทโฟนที่มากเกินไป

โดยการใช้งานนิ้วมืออย่างหนักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันระหว่างข้อต่อต่างๆ รวมถึงเส้นเอ็นทับเส้นประสาทข้อมือ ซึ่งจะทำให้มีอาการมือชาและนิ้วล็อก หรืออาจทำให้เกิดการอักเสบของข้อมือและนิ้วมือ ซึ่งวิธีการรักษาก็คือ การกินยา ฉีดยา หรือผ่าตัด แต่วิธีการรักษาเหล่านี้เป็นการรักษาตามอาการหรือการรักษาที่ปลายเหตุเท่านั้น

นายแพทย์จตุพล กล่าวอีกว่า การรักษาที่แท้จริง คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าเราลดการใช้สมาร์ทโฟนไม่ได้ ก็ต้องลองมองหาอุปกรณ์ที่ช่วยในการสร้างความสมดุลของการใช้งานข้อมือและนิ้วมือในการกดสมาร์ทโฟน

ซึ่งอาจใช้สมาร์ทโฟนที่จอใหญ่ หรือ แท็บเล็ตที่มาพร้อมปากกาสไตลัส โดยใช้ปากกาพิมพ์และจิ้มคำสั่งต่างๆ แทนการใช้นิ้วหัวแม่มือ เพราะการใช้ปากกาบนสมาร์ทโฟนจะทำให้มีการเคลื่อนไหวของนิ้วมือ ข้อมือ กล้ามเนื้อแขนได้สมดุลมากขึ้น

ทั้งนี้ นายแพทย์จตุพล ได้แนะนำเคล็ดลับ “กันไว้ดีกว่าแก้” เพื่อการป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้งานนิ้วหัวแม่มือ ในการสัมผัสสมาร์ทโฟนมากเกินไปดังนี้

  • วางสมาร์ทโฟนลงบ้าง ใช้แต่พอดี
  • ส่งข้อความเสียงแทนการพิมพ์หรือใช้ฟีเจอร์สั่งพิมพ์ด้วยเสียง
  • เปลี่ยนมือที่ใช้ถือสมาร์ทโฟนบ่อยๆ
  • วางสมาร์ทโฟนลงบนโต๊ะแล้วพิมพ์ด้วยนิ้วชี้ทั้งสองข้าง
  • พยายามอย่าใช้นิ้วหัวแม่มือในการทำกิจกรรมอื่นซ้ำกันบ่อยๆ

โรคนิ้วล็อก (Trigger finger / Stenosing tenosynovitis / stenosing tenovaginosis) เป็นอาการเจ็บปวดของนิ้ว ทำให้นิ้วนั้นๆ งอไม่ลง หรืองอได้แต่เหยียดไม่ออก หรือเหยียดออกได้ก็จะมีเสียงดังคลิกหรือต้องช่วยง้างออก ซึ่งจะเจ็บมาก และมักจะมีจุดกดเจ็บที่ฐานนิ้ว อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือหลายนิ้ว เป็นข้างเดียวหรือทั้งสองข้างก็ได้ โดยส่วนใหญ่จะเกิดที่นิ้วหัวแม่โป้ง นิ้วนาง และนิ้วก้อย

แหล่งข้อมูล

  1. ปาดลูบถ่างหุบ พฤติกรรมใช้สมาร์ทโฟนผิดๆ จุดเสี่ยงของโรคนิ้วล็อก.http://thairath.co.th/content/529960[2015, October 9].
  2. Trigger Finger. http://www.webmd.com/osteoarthritis/guide/trigger-finger[2015, October 9].
  3. Trigger finger. http://www.nhs.uk/conditions/Trigger-finger/Pages/Introduction.aspx [2015, October ].