นิ่วในท่อไต (Ureteric stone)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

นิ่วในท่อไต (Ureteric stone หรือ Ureteric calculi) คือ โรคเกิดจากมีก้อนนิ่ว ขนาดเล็กหลุดจากก้อนนิ่วในไตหล่นเข้ามาอยู่ในท่อไตซึ่งเป็นท่อยาวขนาดเล็กที่เชื่อม ต่อระหว่างไตกับกระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในท่อไต เป็นโรคพบบ่อยโรคหนึ่ง พบได้ประมาณ 10% ของประชากรทั่วโลก

อนึ่ง ท่อไต(Ureter) เป็นอวัยวะมีหน้าที่นำส่งน้ำปัสสาวะจากไตเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ เป็นอวัยวะคู่เช่นเดียวกับไตคือ ท่อไตซ้ายและท่อไตขวา มีลักษณะเป็นท่อยาวขนาดเล็กขนาบอยู่ด้านข้างของกระดูกสันหลังช่วงเอวทั้งซ้ายและขวา ยาวประมาณ 25 - 30 เซนติเมตร (ซม.) เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 5 มิลลิเมตร (มม.) ผนังของท่อเป็นเยื่อเมือกและกล้ามเนื้อ เพื่อบีบตัวช่วยการเคลื่อนตัวของน้ำปัสสาวะจากไตสู่กระเพาะปัสสาวะ

นิ่วในท่อไตส่วนใหญ่จะมีขนาดเล็กกว่า 5 มม. แต่อาจพบมีขนาดใหญ่กว่า 1 ซม.ได้ ซึ่งโดยทั่วไป นิ่วในท่อไตเมื่อมีขนาดประมาณ 1 มม. 87% จะหลุดออกมาได้เองกับน้ำปัสสาวะ, ถ้าขนาด 2 - 4 มม., 5 - 7 มม., 7 - 9 มม., และขนาดใหญ่กว่า 9 มม. ประมาณ 76%, 60%, 48%, และ 25% ตามลำดับ ที่จะหลุดได้เอง

ซึ่งนอกจากขนาดของก้อนนิ่วแล้ว โอกาสที่นิ่วจะหลุดได้เอง ยังขึ้นกับตำแหน่งของนิ่ว กล่าวคือ ก้อนนิ่วในส่วนปลายท่อไตจะหลุดได้ง่ายกว่าก้อนนิ่วที่อยู่ในส่วนต้นหรือในส่วนกลางของท่อไต

ทั้งนี้ โดยทั่วไปประมาณ 95% ก้อนนิ่วจะหลุดได้เองภายในระยะเวลา 4 - 6 สัปดาห์นับจากวินิจฉัยโรคได้

และเนื่องจากเป็นโรคสืบเนื่องกับนิ่วในไต จึงพบนิ่วในท่อไตได้ในผู้ใหญ่ และพบในผู้ชาย บ่อยกว่าในผู้หญิง 2 - 3 เท่าเช่นเดียวกับในโรคนิ่วในไต

นิ่วในท่อไตมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

นิ่วในท่อไต

เนื่องจากนิ่วในท่อไตเป็นก้อนนิ่วที่หล่นมาจากนิ่วในไต ดังนั้นชนิดของนิ่วจึงเช่นเดียวกับนิ่วในไตกล่าวคือ

  • ส่วนใหญ่ประมาณ 75 - 85% เป็นนิ่วมีส่วนประกอบส่วนใหญ่เป็นแคลเซียม ซึ่งคือ แคลเซียมออกซาเลต (Calcium oxalate)
  • 10 - 15% เป็นชนิด Struvive stone (แอมโมเนียม แมกนีเซียม ฟอสเฟต/Ammonium magnesium phosphate)
  • 5 - 8% เป็นชนิดเกิดจากกรดยูริค (Uric acid) และ
  • ประมาณ 1% เกิดจากสารซีสตีน (Cystine)

ซึ่งกลไกการเกิดนิ่วเหล่านี้คือ การตกตะกอนของสารเหล่านี้เรื้อรังในไต จนในที่สุดรวมตัวกันเป็นก้อนนิ่ว ซึ่งสาเหตุที่ทำให้สารเหล่านี้ตกตะกอน เกิดได้จากหลายสาเหตุเช่น

  • มีสารเหล่านี้เข็มข้นในปัสสาวะผิดปกติ หรือ
  • มีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ จึงก่อให้ปัสสาวะแช่ค้างอยู่นานในไต เช่น ท่อปัสสาวะตีบจากท่อปัสสาวะอักเสบติดเชื้อเรื้อรัง หรือตีบแต่กำเนิด

นอกจากนั้น ปัจจัยเสี่ยงสำคัญในการเกิดนิ่วในท่อไตเป็นปัจจัยเสี่ยงเดียวกับการเกิดนิ่วในไต เพราะเป็นการเกิดโรคสืบเนื่องกัน เช่น

  • จากพันธุกรรม
  • จากดื่มน้ำน้อย
  • จากมีการติดเชื้อเรื้อรังในทางเดินปัสสาวะ
  • จากกินอาหารมีสารต่างๆที่ก่อการตกตะกอนในปัสสาวะในปริมาณสูงต่อเนื่อง (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘นิ่วในไต’)

นิ่วในท่อไตมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของโรคนิ่วในท่อไตคือ

  • เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจะไม่มีอาการ นิ่วจะผ่านออกมาทางปัสสาวะได้เอง
  • แต่เมื่อก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือเมื่อมีการติดเชื้อในไต และ/หรือในกระเพาะปัสสาวะ จะส่งผลให้ท่อไตอักเสบบวม รูท่อไตจึงตีบแคบลง ก้อนนิ่วจึงค้างติดอยู่ได้ง่ายในท่อไต ซึ่งอาการพบบ่อยของนิ่วในท่อไตกรณีเหล่านี้คือ
    • ปวดท้องมากบริเวณเอว หรือผู้ป่วยบางคนใช้คำว่า ปวดหลัง มักร้าวลงมายังขาหนีบ หรือ อวัยวะเพศ เป็นการปวดบีบเป็นพักๆ เรียกในทางแพทย์ว่า รีนัลโคลิค (Renal colic)
    • อาจร่วมกับ คลื่นไส้ อาเจียน
    • เมื่อมีการติดเชื้อร่วมด้วย มักมี ไข้ มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ
    • อาจมีปัสสาวะน้อย และมักพบร่วมกับปัสสาวะเป็นเลือด ซึ่งอาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ตรวจได้จากการตรวจปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ

แพทย์วินิจฉัยนิ่วในท่อไตได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยนิ่วในท่อไตได้จาก ประวัติอาการ ประวัติการเคยเป็นนิ่วในไตหรือในท่อปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีก้อนนิ่วปน การตรวจร่างกาย การตรวจปัสสาวะ การตรวจภาพไต/หลอดไตด้วยเอกซเรย์ และ/หรืออัลตราซาวด์ และอาจมีการตรวจอื่นๆเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินปัสสาวะ

อนึ่ง นิ่วในถุงน้ำดี (ซึ่งไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับนิ่วในไตหรือนิ่วในท่อไต เป็นคนละเรื่อง คนละโรค แต่ให้อาการคล้ายคลึงกันได้) และอาการของโรคนิ่วในท่อไต มักคล้ายคลึงกับการปวดท้องจากหลายสาเหตุ เช่น โรคแผลในกระเพาะอาหาร และโดยเฉพาะเมื่อเป็นนิ่วในท่อไตข้างขวา แพทย์ต้องแยกออกจากโรคไส้ติ่งอักเสบ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี

รักษานิ่วในท่อไตอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคนิ่วในท่อไตขึ้นกับ

  • ขนาดของก้อนนิ่ว
  • การที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อร่วมด้วย และ
  • โรคของไต (เช่น เมื่อมีไตบวมร่วมด้วย)

โดยแนวทางวิธีรักษาโรคนิ่วในท่อไต ได้แก่

  • ในผู้ป่วยที่ก้อนนิ่วเล็กกว่า 1 ซม. ไม่ติดเชื้อ ไม่มีโรคของไต แพทย์มักรักษาโดยให้ ยาแก้ปวด ยาขับนิ่ว(ยาเพิ่มการขยายตัวและเพิ่มการบีบตัวของท่อไต) ยาปฏิชีวนะ ยาลดอาการบวมของท่อไต และแนะนำให้ดื่มน้ำมากๆ อาจวันละถึง 2 ลิตร เพื่อรอให้นิ่วหลุดออกได้เอง โดยจะนัดตรวจผู้ป่วยบ่อยๆร่วมกับการตรวจตำแหน่งของนิ่วด้วยอัลตราซาวด์
  • แต่ถ้าก้อนนิ่วไม่เคลื่อนที่/ยังคงอุดตัน แพทย์อาจพิจารณาเอาก้อนนิ่วออก ซึ่ง
    • มักเป็นการสลายนิ่วด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง หรือ
    • การส่องกล้องท่อไตเพื่อดึง/ขบก้อนนิ่วออก
    • แต่บางครั้งอาจเป็นการผ่าตัดเอานิ่วออกโดยการผ่าตัดผ่าน ไต หรือผ่านท่อไต โดยตรงซึ่งมักใช้กรณีก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ และ/หรือเมื่อแพทย์รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล
  • แต่ถ้านิ่วก้อนใหญ่ตั้งแต่ 1 ซม.ขึ้นไป ผู้ป่วยติดเชื้อและ/หรือมีโรคของไต แพทย์มักแนะนำการสลายนิ่วตั้งแต่แรก

*อนึ่ง การจะเลือกรักษาด้วยวิธีใด ขึ้นกับข้อบ่งชี้ทางการแพทย์และดุลพินิจของแพทย์เป็นแต่ละกรณีผู้ป่วย

นอกจากนั้นคือ การรักษานิ่วในไต เพราะตราบใดที่ยังมีนิ่วในไต ก็จะมีโอกาสเกิดนิ่วในท่อไตย้อนกลับเป็นซ้ำเสมอ(แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรค ‘นิ่วในไต’ ได้จากบทความในเว็บ haamor.com)

มีผลข้างเคียงจากนิ่วในท่อไตไหม?

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากโรคนิ่วในท่อไตคือ

  • การติดเชื้อของไต/กรวยไต(กรวยไตอักเสบ) และ
  • ถ้าก้อนนิ่วอุดกั้นท่อไตเรื้อรัง อาจเป็นสาเหตุให้ไตข้างนั้นบวม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อไตข้างนั้นสูญเสียการทำงานจนเกิดเป็นโรคไตเรื้อรังได้

นิ่วในท่อไตรุนแรงไหม?

โดยทั่วไปนิ่วในท่อไตเป็นโรคไม่รุนแรง มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย ยกเว้นเมื่อปล่อยเรื้อรังจนไตเสียการทำงาน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีนิ่วในท่อไต? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร?

การดูแลตนเองเมื่อมีนิ่วในท่อไตและการพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล ได้แก่

  • เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ’อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงต่อไต ไม่ควรซื้อยามากินเอง นอกจากนั้นคือ
  • ต้องรักษานิ่วในไตควบคู่ไปด้วยเสมอตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ

ทั้งนี้ ทั่วไป การดูแลตนเองเมื่อมี นิ่วในท่อไต คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วน ไม่หยุดยาเอง
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งในบางผู้ป่วย แพทย์แนะนำให้ดื่มน้ำถึงวันละ2ลิตร
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสารต้นกำเนิดของนิ่ว ดังกล่าวในหัวข้อ’สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงฯ’
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ และพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการเลวลง เช่น ปวดเอ็ว/ปวดหลังมากขึ้น กลับมามีไข้ หนาวสั่น
    • มีอาการใหม่ๆเกิดขึ้น เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องผูกหรือท้องเสียมาก วิงเวียนศีรษะมาก ใจสั่นทุกครั้งที่กินยา
    • เมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันนิ่วในท่อไตได้อย่างไร?

การป้องกันนิ่วในท่อไตคือ การป้องกัน’นิ่วในไต’นั่นเอง เพราะสาเหตุของนิ่วในท่อไตเกิดจากนิ่วในไต(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘นิ่วในไต’) ซึ่งที่สำคัญคือ

  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆตามแพทย์/พยาบาลแนะนำเมื่อเคยเป็นนิ่วในไตหรือในท่อไต แต่ถ้าไม่เคยเป็นนิ่ว ควรดื่มน้ำสะอาดวันละอย่างน้อย 6 - 8 แก้ว (เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลวซึ่งต้องปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ)
  • จำกัดอาหารที่มีสารต่างๆที่เป็นสาเหตุของนิ่วในไต เช่น
    • สารออกซาเลตมีสูงใน ยอดผัก ถั่วรูปไต และผักกะเฉด
    • กรดยูริคมีสูงในอาหารโปรตีน และยอดผัก
    • และสารซีสตีนมีสูงในอาหารโปรตีน (เนื้อสัตว์ต่างๆ)
  • ไม่ซื้อ วิตามิน เกลือแร่ เสริมอาหารกินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะอาจเป็นสาเหตุของนิ่วในไต รวมถึงนิ่วในท่อไตได้ เช่น วิตามิน ดี วิตามิน ซี และแคลเซียม เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิด นิ่วในไต กรณีกินต่อเนื่องในปริมาณมากเกินไป

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Cooper, J., Stack, G., and Cooper, T. (2000). Intensive medical management of ureteral calculi. Urology. 56, 575-578.
  3. Gettman, M., and SEGURA, J. (2001). Current evaluation and management of renal and ureteral stones. Saudi Medical Journal. 22,306-314.
  4. Lee, F. (2008). Update on the management of ureteric stones. The Hong Kong Medical Diary. 13, 11-12.
  5. Taylor, J., and Rideout, S. (2011). Ureteral calculi: what should you consider before intervening. The Journal of Family Practice. 60, 232-233.
  6. http://emedicine.medscape.com/article/437096-overview#showall [2018,Sept22]
  7. https://www.cua.org/themes/web/assets/files/management_of_ureteral_calculi.pdf [2018,Sept22]