นิ่วในถุงน้ำดี (ตอนที่ 1)

นิ่วในถุงน้ำดี-1

นพ.ทวี รัตนชูเอก แพทย์ทรงคุณวุฒิ หน่วยส่องกล้องทางเดินอาหารศัลยศาสตร์ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยศาสตร์ โรงพยาบาลราชวิถี เปิดเผยว่า นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่ไม่แสดงอาการใดๆ เกิดขี้นอย่างเงียบๆ โดยไม่รู้ตัว พบอุบัติการณ์ผู้ป่วยในประเทศไทยร้อยละ 5-10 ของประชากร เป็นโรคที่ป้องกันได้ยาก เนื่องจากมีหลายปัจจัยที่ทำให้เกิดนิ่ว

นพ.ทวี กล่าวว่า นิ่วในถุงน้ำดี พบมากใน 4 กลุ่มเสี่ยง 4F คือ

1) พบมากในผู้หญิง (Female) มากกว่าเพศชายประมาณ 2-3 เท่า

2) พบมากในวัย 40 ปีขึ้นไป (Forty) หรือวัยกลางคนที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ

3) พบมากในคนอ้วน (Fatty) การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงทำให้มีคอเลสเตอรอลสะสมในถุงน้ำดีมากเกินไป และ

4) พบมากในผู้ที่มีอาการจุกแน่นบ่อยๆ หลังรับประทานอาหารไขมันสูง (Fat Intolerance) และมีอาการปวดท้องบ่อยๆ หลังรับประทานอาหาร

นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยโรคทาลัสซีเมีย ก็สามารถเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้เช่นกัน

นพ.ทวี กล่าวเสริมว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีก็คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่ใส่ใจไปตรวจ เพราะยังมีความเข้าใจผิดว่าเป็นอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงไปซื้อยาลดกรดหรือยารักษาโรคกระเพาะมากินเอง เมื่อมาพบแพทย์ก็อักเสบและมีอาการรุนแรงมาก จนก้อนนิ่วตกไปในท่อน้ำดีแล้ว ซึ่งจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น รวมถึงสูญเสียเงินทองในการรักษามากขึ้น อีกทั้งยังส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย

โดยส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิงวัยทำงานที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว ดังนั้น ผู้ป่วยจะต้องรู้จักสังเกตอาการเบื้องต้นด้วยตนเอง และเฝ้าระวังอาการอย่างระมัดระวัง ซึ่งผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบนอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่มีอาการก็ตาม

นพ.ทวี กล่าวอีกว่า นิ่วในถุงน้ำดีหากไม่รีบรักษา จะทำให้นิ่วที่อยู่ในถุงน้ำดี ตกไปในท่อน้ำดี กลายเป็นนิ่วในท่อน้ำดี ซึ่งมีความยุ่งยากในรักษาและเสี่ยงอันตรายต่อชีวิต

โดยปัจจุบันเทคโนโลยีการรักษาโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้มีการพัฒนาไปมาก จากการผ่าตัดใหญ่ในอดีตที่จะต้องเปิดแผลหน้าท้องใต้ชายโครงขวาประมาณ 1 คืบ แล้วตัดถุงน้ำดีออกไป และใช้เวลาพักฟื้นนาน 7-10 วัน มาเป็นการผ่าตัดส่องกล้อง ที่มีความสะดวกและแผลเล็กจนแทบมองไม่เห็น และใช้เวลาพักฟื้น 2-3 วัน ก็สามารถกลับไปทำงานได้แล้ว

นอกจากนี้ก่อนการผ่าตัดแพทย์จะทำการตรวจการทำงานของตับด้วยว่า มีการทำงานที่ผิดปกติหรือไม่ เนื่องจากแพทย์อาจสงสัยว่า ผู้ที่มารักษานิ่วในถุงน้ำดี อาจมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมด้วย จะได้ทำการผ่าตัดออกภายในครั้งเดียว ซึ่งพบว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยนิ่วในถุงน้ำดีจะมีนิ่วในท่อน้ำดีด้วย

แหล่งข้อมูล:

  1. ผู้หญิงอ้วนวัย40 กินแล้วจุกแน่นบ่อย เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี. http://www.thaihealth.or.th/Content/39556-ผู้หญิงอ้วนวัย40 กินแล้วจุกแน่นบ่อย เสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี.html [2017, December 15].