นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ (Neurokinin 1 antagonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ (Neurokinin 1 antagonist) เป็นกลุ่มของยาใหม่ที่มีคุณสม บัติในการรักษาอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล และบรรเทาอาการคลื่นไส้-อาเจียน ปัจจุบันมีการใช้ยาบางตัวในกลุ่มนี้เช่น ยา Aprepitant โดยนำมาป้องอาการคลื่นไส้-อาเจียนกับผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องเข้ารับยาเคมีบำบัด จุดเริ่มของการพัฒนายาในกลุ่มนี้เริ่มจากนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบสารประกอบประเภทโปรตีนในสมองหรือที่เรียกกันว่า Substance P (ย่อว่า SP, สารในสมองที่ทำหน้าที่คล้ายสารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาการเจ็บปวด อาการคลื่นไส้อาเจียน และอารมณ์)ที่อยู่ในกระบวนการถ่ายทอดกระแสประสาทจากสมอง Substance P มีความเกี่ยวพันต่อการควบคุมอารมณ์ ความวิตกกังวล ความเครียด จังหวะการหายใจ อาการคลื่นไส้-อาเจียน รวมถึงความเป็นพิษที่เกิดต่อระบบประสาทของมนุษย์

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์จะเข้าแทรกแซงและยับยั้งการรวมตัวของ Substance P ไม่ให้เข้าจับกับตัวรับ (Receptor) ในสมอง จึงเป็นเหตุให้เกิดการปิดกั้นกระแสประสาทที่เป็นคำสั่งที่ไปกระตุ้นอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงส่งผลต่ออารมณ์และต่อความรู้สึกติดตามมา

ในปัจจุบันยังมีการนำยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มาป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนหลังจากการผ่าตัดทำให้ยากลุ่มนี้เริ่มแพร่หลายและมีใช้มากขึ้นในเวลาต่อมา

อาจจำแนกตัวอย่างยาในกลุ่มนิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ได้ดังนี้

  • Aprepitant: มีใช้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อการค้า Emend ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้อาเจียนในผู้ ป่วยมะเร็งที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด รวมถึงผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัดโดยการวางยาสลบ ระยะเวลาการใช้ยาอยู่ในช่วง 3 - 4 วัน มีรูปแบบเป็นยารับประทานโดยรับประทานยาเพียงวันละครั้ง ตัวยาสามารถอยู่ในร่างกายได้มากกว่า 9 - 13 ชั่วโมงก่อนที่จะกำจัดออกไปกับอุจจาระเสียเป็นส่วนมาก
  • Fosaprepitant: เป็นสารเคมีที่ยังไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ ต้องถูกร่างกายเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีไปเป็นตัวยา Aprepitant จึงจะสามารถออกฤทธิ์ได้ ในแถบยุโรปรู้จักกันภายใต้ชื่อการค้าว่า Ivemend แถบอเมริกาจะใช้ชื่อการค้าว่า Emend for injection ใช้ป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนเช่นเดียวกับ Aprepitant รูปแบบยาแผนปัจจุบันจะเป็นยาฉีด
  • Casopitant: วางจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้า Rezonic และ Zunrisa ถูกพัฒนาโดยบริษัท Glaxo SmithKline ด้วยเหตุผลบางประการยานี้ถูกเพิกถอนการใช้ในปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552)
  • Vestipitant: เป็นยาที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท GlaxoSmithKline ประโยชน์ทางคลินิกนอกจากจะใช้รักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนแล้ว ยังใช้บำบัดอาการหูอื้อ อาการวิตกกังวลและอาการนอนไม่หลับ
  • Maropitant: จำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าว่า Cerenia ถูกพัฒนาโดยบริษัท Zoetis นำไปรักษาอาการคลื่นไส้-อาเจียนในสัตว์เช่น สุนัข
  • Lanepitant: เป็นยาที่ยังอยู่ในช่วงทดลองพัฒนาและยังมิได้มีการวางจำหน่ายแต่อย่างใด

อนึ่งถึงแม้ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์จะถูกจัดเป็นกลุ่มยาใหม่ แต่ก็ถือเป็นทางเลือกสำหรับวงการแพทย์ในการใช้ป้องกันการคลื่นไส้-อาเจียนในระยะสั้น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล รวมถึงประโยชน์อื่นที่รอการค้นพบและยืนยันประสิทธิภาพของการใช้ยาอย่างต่อเนื่อง

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

นิวโรไคนิน1-แอนตาโกนิสต์

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • ป้องกันอาการคลื่นไส้-อาเจียนในผู้ป่วยที่ต้องได้รับยาเคมีบำบัด และผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด
  • บำบัดอาการซึมเศร้า อาการวิตกกังวล
  • รักษาอาการหูอื้อ
  • อาการนอนไม่หลับ

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งสารประกอบกลุ่มโปรตีนในสมองที่มีชื่อว่า Substance P ส่งผลให้กระแสประสาทจากสมองไม่สามารถถูกส่งผ่านไปตามอวัยวะต่างๆได้ เกิดการปรับสมดุลเคมีในสมองจนส่งผลต่ออารมณ์ โดยทำให้คลายความวิตกกังวล ความซึมเศร้า ความเครียด ไปจนกระทั่งลดอาการคลื่นไส้-อาเจียน จึงเป็นที่มาของฤทธิ์ในการรักษาตามสรรพคุณ

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายเป็นยาชนิดรับประทานและชนิดยาฉีด

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีขนาดรับประทานอย่างไร?

การใช้ยาแต่ละรายการของยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์จะขึ้นกับอาการของผู้ป่วยโดยต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยาอะไรอยู่ เพราะยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรือเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนเกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยา/ใช้ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์สามารถรับประทาน/ใช้ยาเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยา/ใช้ยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดยาเป็น2 เท่า

อนึ่งกรณีลืมใช้ยานี้ก่อนทำหัตถการทางการแพทย์เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัด ต้องแจ้งให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้ปรับระยะเวลาการให้ยากับผู้ป่วยจะเป็นการเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตามเพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยา/ใช้ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ให้ตรงเวลา

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ มีกรดในกระเพาะอาหารมาก รู้สึกสับสน ปัสสาวะน้อย วิงเวียน ปากแห้ง เป็นลม แสบร้อนกลางอก สะอึก ชีพจรเต้นเร็ว ท้องอืด คลื่นไส้ ปวดท้อง น้ำหนักลด ปวดศีรษะ ช่องปากอักเสบหรือมีอาการบวม ผิวหนังมีรอยย่น ท้องผูก อ่อนเพลีย

มีข้อควรระวังการใช้นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ร่วมกับยาต่อไปนี้เช่น Pimozide, Terfenadine, Astemizole และ Cisapride
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กและผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปีโดยไม่ใช่คำสั่งจากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ยานี้รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนชนิดเรื้อรัง
  • การใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ต้องมีคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น
  • การใช้ยานี้ควรใช้เพียงระยะสั้นๆภายในสถานพยาบาลเท่านั้น
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:

ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยา ทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้ยา Fosaprepitant ร่วมกับยา Hydrocodone อาจทำให้ระดับยา Hydrocodone ในกระแสเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงจากยา Hydrocodone เช่น วิงเวียน ง่วงนอน ขาดสมาธิ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะกดการหายใจ (หายใจช้า ตื้น เบา จนอาจถึงหยุดหายใจได้) เป็นลม ไปจนถึงขั้นโคม่า หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ Aprepitant ร่วมกับยา Fentanyl อาจทำให้ระดับยา Fentanyl ในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยา Fentanyl ติดตามมาเช่น รู้สึกสับสน เป็นลม วิงเวียน ง่วงนอน หัวใจเต้นช้า เพื่อป้องกันอาการดังกล่าวแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป

ควรเก็บรักษานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ในอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

นิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยานิวโรไคนิน1 แอนตาโกนิสต์ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Emend (อีเมนด์) MSD
Emend 115 MG VIAL (อีเมนด์ 115 มิลลิกรัม ไวอัล) Merck
Rezonic (เรโซนิก) GlaxoSmithKline
Zunrisa (ซันริซา) GlaxoSmithKline

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/NK1_receptor_antagonist [2015,Nov7]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Aprepitant#Mechanism_of_action [2015,Nov7]
  3. http://www.webmd.com/drugs/2/drug-149985/fosaprepitant-intravenous/details#images/00006388432 [2015,Nov7]
  4. https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/e/emend_iv/emend_iv_pi.pdf [2015,Nov7]
  5. http://www.pubfacts.com/detail/24293756/Efficacy-of-vestipitant-a-neurokinin-1-receptor-antagonist-in-primary-insomnia [2015,Nov7]
  6. http://www.journalsleep.org/ViewAbstract.aspx?pid=29217 [2015,Nov7]
  7. file:///C:/Users/apai/Downloads/Article.pdf [2015,Nov7]
  8. https://en.wikipedia.org/wiki/Vestipitant [2015,Nov7]
  9. http://www.drugs.com/drug-interactions/a-cof-dh-with-fosaprepitant-1201-8107-2862-0.html [2015,Nov7]
  10. http://www.medicineandtechnology.com/2009/04/what-do-you-think-about-rezoniczunrisa.html [2015,Nov7]