นิวมอเนีย (ตอนที่ 4)

นิวมอเนีย

โรคปอดอักเสบสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา อย่างไรก็ดีกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงอาจมีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้อย่าง

  • ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด (Sepsis)
  • เป็นฝีในปอด (Lung abscess) หากมีหนองอยู่ในปอด
  • ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (Pleural effusion)
  • หายใจลำบาก

แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคได้ด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย การฟังเสียงปอดด้วยหูฟัง (Stethoscope) หากสงสัยว่าเป็นโรคปอดอักเสบ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจดังนี้

  • การเอ็กซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูตำแหน่งการติดเชื้อ
  • การตรวจเลือด (Blood tests) เพื่อยืนยันผลว่าเกิดจากเชื้อชนิดไหน
  • การวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (Pulse oximetry) เพราะโรคปอดอักเสบจะเป็นสาเหตุให้มีออกซิเจนในเลือดน้อย
  • การตรวจเสมหะ (Sputum test) เพื่อชี้ถึงสาเหตุของการติดเชื้อ

นอกจากนี้ในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลหรือมีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งให้ทดสอบเพิ่มดังนี้

  • การเพาะเชื้อน้ำในเยื่อหุ้มปอด (Pleural fluid culture) เพื่อดูว่าเป็นการติดเชื้อชนิดไหน
  • การทำซีทีสแกน เพื่อให้ได้ภาพที่ละเอียดของปอด

การรักษาโรคปอดอักเสบ เป็นเรื่องของการรักษาการติดเชื้อและการป้องกันโรคแทรกซ้อน คนที่ติดเชื้อจากชุมชนมักจะให้รักษาตัวที่บ้านด้วยยา แม้ว่าอาการจะดีขึ้นใน 2-3 วัน หรือ สัปดาห์ แต่ความรู้สึกเหนื่อยเพลียจะยังคงอยู่นานนับเดือน

ในคนที่มีสุขภาพดี โรคปอดอักเสบอาจมีอาการไม่รุนแรงและสามารถหายได้ใน 2-3 สัปดาห์ แต่ในผู้สูงวัยและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ การฟื้นตัวอาจใช้เวลานาน 6-8 สัปดาห์ หรือมากกว่านั้น

การรักษาเฉพาะ ขึ้นกับชนิด ความรุนแรงของโรค อายุ และสุขภาพ โดยรวม ซึ่งการรักษารวมถึง

  • การให้ยาปฏิชีวนะ เพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรีย ที่อาจต้องใช้เวลานานในการวิเคราะห์ว่าเป็นเชื้อชนิดไหนเพื่อจะเลือกชนิดของยาปฏิชีวนะได้ถูกต้อง ทั้งนี้จะไม่มีการให้ยาปฏิชีวนะเพื่อกำจัดเชื้อไวรัส แต่เป็นการให้เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นมากกว่า
  • การให้ยาลดไข้ เช่น ยา Aspirin (ไม่ควรให้ยา Aspirin ในผู้ที่อายุต่ำกว่า 20 ปี เพราะอาจทำมีความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการรายน์ - Reye syndrome) ยา Ibuprofen ยา Acetaminophen
  • การให้ยาแก้ไอ เพื่อบรรเทาอาการไอ ทำให้มีโอกาสได้พักผ่อนบ้าง อย่างไรก็ดีเนื่องจากการไอเป็นการช่วยขับเชื้อโรคและของเหลวออกจากปอด ดังนั้นจึงไม่ให้ควรให้ยาระงับการไออย่างเต็มที่

แหล่งข้อมูล

1. Pneumonia - Topic Overview. http://www.webmd.com/lung/tc/pneumonia-topic-overview [2016, January 10].

2. Pneumonia. http://www.lung.org/lung-health-and-diseases/lung-disease-lookup/pneumonia/ [2016, January 10].

3. Pneumonia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/pneumonia/basics/definition/con-20020032 [2016, January 10].