นิวมอเนีย (ตอนที่ 1)

นิวมอเนีย

พญ.ชญาณิศา เมฆพัฒน์ อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ได้กล่าวถึง “โรคปอดอักเสบ” หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “โรคปอดบวม” “โรคนิวมอเนีย” ว่ามีลักษณะการอักเสบของเนื้อปอด โดยเฉพาะที่บริเวณถุงลมปอด ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย

เมื่อเป็นแล้วทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล โดยที่อาการของโรคจะมีความรุนแรงในผู้สูงอายุ (65 ปี) และในผู้สูบบุหรี่ มีโรคปอดเรื้อรัง เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง มีภาวะขาดอาหาร มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับแข็ง โรคไต หรือมีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ เช่น ในผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ที่ได้รับยาสเตียรอยด์ ผู้ที่ได้รับยารักษาโรคมะเร็ง ผู้ที่มีภาวะสำลักง่ายจากการเป็นโรคเส้นเลือดสมอง ผู้ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งในผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อเกิดโรคปอดอักเสบแล้ว มักมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนและมีอัตราการเสียชีวิตที่สูง

ดังนั้น การวินิจฉัยโรคนี้จึงต้องทำอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันการรักษาหรือป้องกันอย่างเหมาะสมก็ล้วนมีความสำคัญมากเช่นกัน

พญ.ชญาณิศา อธิบายถึงสาเหตุการเกิดโรคปอดอักเสบว่า เกิดจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ ปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ และปอดอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่โดยทั่วไปพบปอดอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อมากกว่า โดยการติดเชื้อมีสาเหตุมาจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่มีเชื้อแบคทีเรียเป็นสาเหตุนั้น พบว่าเกิดจากการติดเชื้อนิวโมคอคคัสมากที่สุด ซึ่งสาเหตุของโรคจะแตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ และสภาพแวดล้อมที่เกิดปอดอักเสบ

พญ.ชญาณิศา กล่าวว่า อาการปอดอักเสบที่พบบ่อย คือ เป็นไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย ในบางรายอาจมีอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ กระสับกระส่าย ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นได้

ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบมักมีอาการแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุ อายุของผู้ป่วย และความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปมักมีอาการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนนำมาก่อน เช่น มีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ

พญ.ชญาณิศา กล่าวถึง การรักษาว่าแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

  1. การรักษาจำเพาะ - ในรายที่เป็นโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ไม่มียารักษาที่จำเพาะ ควรให้การรักษาแบบประคับประคอง ยกเว้นไข้หวัดใหญ่ที่มียาต้านไวรัส สำหรับผู้ป่วยที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรีย ควรได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
  2. การรักษาทั่วไป - เช่น ให้สารน้ำให้เพียงพอ แนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ ในรายที่หอบมาก ท้องอืด รับประทานอาหารไม่ได้ ควรพิจารณาให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำและงดอาหารทางปาก ให้ออกซิเจนในรายที่มีอาการเขียว หายใจเร็ว หอบ ชายโครงบุ๋ม กระวนกระวาย หรือซึม หรือใช้ยาขยายหลอดลมในรายที่มีหลอดลมตีบ ให้ยาขับเสมหะหรือยาละลายเสมหะในกรณีที่ให้สารน้ำเต็มที่แต่เสมหะยังเหนียวอยู่ นอกจากนี้การรักษาตามอาการอื่นๆ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ และถ้าหากผู้มีภาวะหายใจล้มเหลวหรือหยุดหายใจ ให้พิจารณาการใส่ท่อหลอดลมและเครื่องช่วยหายใจ

แหล่งข้อมูล

1. โรคปอดอักเสบภัยเงียบที่ไม่ควรมองข้าม. http://manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000134315[2016, January 7].