นอนไม่หลับ กับยานอนหลับ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

เป็นที่ทราบกันดีว่า สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่ายาที่ใช้จะดีเพียงใด ก็จะต้องมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ และทำให้บางครั้งก่อปัญหาใหม่ที่ร้ายแรงกว่าปัญหาเดิมเสียอีก เป็นไปได้ไหมที่ยาบางตัวทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ (Insomnia) และเราควรทำเช่นไรหากประสบปัญหานี้

ยาที่แพทย์สั่งจำนวนมากก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการนอน ยากลุ่มหนึ่งที่พบได้บ่อยว่าทำให้นอนไม่หลับ (Insomnia) คือยาต้านซึมเศร้า (Anti-depressants) เช่น Prozac เพราะยานี้ทำงานโดยพยายามสร้างความสมดุลในฮอร์โมน ด้วยการเปลี่ยนแปลงจังหวะตามธรรมชาติในกระบวนการของร่างกาย

มีคำแนะนำให้หลีกเลี่ยงปัญหานี้โดยการกินยาต้านซึมเศร้า ในตอนเช้า ส่วนยาอื่นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสมดุลของฮอร์โมน (Hormone balance) เช่น ยาคุมกำเนิด (Contraceptive) หรือ ยาช่วยการตกไข่ (Fertility) ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดการนอนไม่หลับได้เช่นกัน แต่ส่วนมากมักจะส่งผลนี้อยู่ในระยะไม่กี่สัปดาห์แรกที่ใช้เท่านั้น

กลุ่มยาที่ก่อปัญหาใหญ่ในการนอนหลับอีกกลุ่มคือ สเตอรอยด์ (Steroids) ซึ่งรวมถึง และบางคนที่ใช้ยากลุ่มแก้แพ้ (Anti-histamines) ก็มีปัญหาการนอนเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันแพทย์มักแนะนำทางเลือกยาตัวอื่นให้ใช้แทน หากประสบปัญหาในการนอนจากยา

ปรกติยาปฏิชีวนะ ที่ใช้ในกรณีติดเชื้อ (Infection) ไม่ก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ แต่มีการพบว่า Amoxycillin และ Acyclovir ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในการนอนหลับกับคนไข้บางราย ซึ่งเป็นข้อดีที่ยาฆ่าเชื้อเหล่านี้ก็จะถูกใช้ในเวลาสั้นๆ คนไข้จึงไม่มีปัญหาในการกลับไปนอนหลับอย่างสงบหลังจากรับประทานยาฆ่าเชื้อหมดแล้ว หลายคนที่ซื้อยากินเอง ก็ให้ระวังการใช้ยาแก้ปวดลดไข้ (Paracetamol) เพราะอาจทำให้มีปัญหาการนอนไม่หลับ

การนอนไม่หลับในเด็กอาจเกิดจากการซื้อยาเองของผู้กครอง เช่น ยาแก้ไอ และยาแก้หวัด เพราะมีตัวยาหลายตัวในยาเหล่านี้ที่อาจก่อให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับ เภสัชกรควรช่วยเลือกตัวยาช่วยทำให้คอชุ่มชื้นมากกว่าที่จะมีคุณสมบัติอื่นๆมากมายที่ไม่ต้องการ หรือแม้แต่การลองใช้สูตรโบราณ เช่น น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งและมะนาวก็อาจได้ผลดี

การศึกษาพบว่าการใช้วิตามินหรือสมุนไพรที่คิดกันว่ามักเป็นทางเลือกที่ดี มีผลที่อ่อนโยน (Gentle) ต่อร่างกายมากกว่ายาสังเคราะห์ ก็ไม่เป็นความจริงเสมอไป เช่น มีการรายงานบ่อยๆว่า การกินโสม (Ginseng) ก่อให้เกิดปัญหาการนอนไม่หลับในบางคน ควรเลือกกินยาอย่างอื่นแทน เพื่อแก้ปัญหา

วิตามิน C ในปริมาณมาก (High dose) ที่มักได้รับการแนะนำโดยแพทย์ทางเลือก ก็อาจก่อปัญหานอนไม่หลับ อันที่จริง ผลดีที่ได้จากวิตามิน C ในปริมาณสูง ยังมิได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าต้องการจริงๆ ก็หาได้ไม่ยากจากตัวเลือกอื่นๆมาทดแทน

ยังมีสารเสพติดประเภทฝิ่น (Opiate) ที่เป็นส่วนผสมอยู่ในยาแก้ปวด (Painkillers) ไม่ว่าจะเป็นยาที่แพทย์สั่งหรือซื้อกินเอง และเป็นส่วนผสมในยานอนหลับบางตัวด้วย คนที่ติดเฮโรอีน (Heroin) หรือ คนที่เพิ่งเลิกยาเมธาโดน (Methadone) ก็มักประสบปัญหาการนอนไม่หลับและหงุดหงิดฉุนเฉียว แต่ข้อดีคืออาการนอนไม่หลับมักจะหายสนิทภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์ หลังแก้ปัญหาต้นเหตุได้

หากพบปัญหาการนอนไม่หลับ ในเวลาใกล้เคียงกับการกินยาที่สั่งโดยแพทย์หรือซื้อกินเองก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ยาดังกล่าวเป็นสาเหตุของการนอนไม่หลับ และควรหาทางเลือกอื่นที่เหมาะสมกว่า เพื่อทดแทนยาเดิม

แหล่งข้อมูล:

  1. Medicines that cause sleep problems. http://www.insomniacs.co.uk/medicines-cause-sleep-problems.html [2012, April 3].