นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 8 และตอนจบ)

จากการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกพบว่า เด็กร้อยละ 11-12 มีการกรนเกิดขึ้นระหว่างอายุ 1-9 ปี และมีการกรนอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ซึ่งเสียงดังขนาดที่พ่อแม่รับรู้ได้ และประมาณร้อยละ 3 ของเด็กอายุระหว่าง 1-9 ปี มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea หรือ Upper airway resistance syndrome) ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา

นอกจากนี้สิ่งที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็คือ โรคอ้วน (Obesity) ที่ทำให้มีไขมันรอบคอส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลง เด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome) เด็กที่มีภาวะกล้ามเนื้อตึงตัวน้อย (Hypotonia) และเด็กที่มีอาการของความผิดปกติของกล้ามเนื้อ (Neuromuscular disease)

หากเด็กนอนหลับไม่ดีในตอนกลางคืน สมองจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอและเซลล์สมองจะไม่พัฒนา ดังนั้นภาวะการหยุดหายใจขณะหลับสามารถส่งผลกระทบต่อช่วงที่สมองเด็กกำลังพัฒนาความสามารถในการเรียนรู้ได้

ซึ่งจากการศึกษาพบว่า เด็กที่มีผลการเรียนไม่ดีมีสาเหตุจากภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ และเมื่อมีการรักษาเรื่องการนอนแล้วก็พบว่าเด็กเรียนดีขึ้น ดังนั้นหากไม่รีบรักษาภาวะการหยุดหายใจขณะหลับในเด็กให้เร็วที่สุด สมองเด็กก็สูญเสียไปโดยไม่สามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้

เนื่องจากการกรนในเด็กมักเกิดจากต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์โต การรักษาจึงใช้การผ่าตัด (Adenotonsillectomy) ซึ่งประมาณร้อยละ 85-90 ได้ผลดีอย่างน้อยก็ 2-3 ปี เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจะไม่เกิดขึ้นอีกเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่

หากการผ่าตัดไม่ได้ผล ซึ่งก็มีประมาณร้อยละ 10 เช่นในกรณีที่เด็กอ้วนหรือมีอาการรุนแรงหรืออาการแทรกซ้อน ก็อาจใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure = CPAP)

นอกจากนี้ตำแหน่งของกรามยังมีผลต่อทางเดินหายใจส่วนบน ดังนั้นทันตกรรมจัดฟัน (Orthodontics) จึงเป็นอีกทางของการรักษาในเด็ก

สำหรับการตรวจหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น ทำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการนอนหลับของเด็ก ซึ่งจะทำการศึกษาการนอนของเด็กอย่างน้อย 1 คืนที่ศูนย์นอนหลับ (Sleep center) การตรวจการนอนหลับนี้เรียกว่า (Polysomnogram = PSG)

โดยอุปกรณ์ส่งสัญญาณ (Sensors) จะถูกติดไว้ที่บริเวณศีรษะ ใบหน้า หน้าอก และขาของเด็ก แล้วส่งสัญญาณไปยังคอมพิวเตอร์ PSG จะบันทึกคลื่นสมอง การเต้นของหัวใจ และการหายใจระหว่างที่เด็กหลับ นอกจากนี้ยังบันทึกการเคลื่อนไหวของตาและขา ความตึงของกล้ามเนื้อด้วย นี่เป็นวิธีวัดภาวะการหยุดหายใจขณะหลับที่แน่นอนที่สุด ซึ่งจะทำให้รู้ว่าปัญหารุนแรงแค่ไหนและทำการรักษาต่อ

การนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่างที่หลายคนคิด ดังนั้น หนทางที่ดีที่สุดเมื่อพบว่าลูกน้อยของเรามีการนอนกรน ควรได้รับการตรวจเช็คจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการรักษาอย่างถูกวิธีต่อไป

แหล่งข้อมูล:

  1. Dangers of snoring in kids. http://www.medicalnewstoday.com/releases/4257.php [2013, November 9].
  2. Child Snore. http://sleepcenter.ucla.edu/body.cfm?id=51 [2013, November 9].