นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 7)

การไม่ได้ตรวจหรือไม่ได้รับการรักษาอาจมีผลต่อการนอนตอนกลางวันและพฤติกรรมของเด็กที่โรงเรียน จากงานวิจัยหนึ่งของ The American College of Chest Physicians พบว่าเด็กที่กรนดังจะมีปัญหาเรื่องการเรียนมากขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะการนอนที่ไม่ได้คุณภาพในตอนกลางคืน ทำให้เด็กไม่ค่อยมีสมาธิ (Hyperactive) ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder = ADHD) นอกจากนี้การหยุดหายใจชั่วคราว (Apnea) ยังทำให้เด็กโตช้าและมีปัญหาเรื่องหลอดเลือดหัวใจ

ทั้งนี้ ภาวะหยุดหายใจชั่วคราวของเด็ก ตอนกลางคืนอาจสังเกตได้จาก

  • มีการกรนเสียงดังสม่ำเสมอ
  • มีการหยุด อ้าปาก กรน และหยุดหายใจ
  • นอนในท่าที่ไม่ปกติ
  • เหงื่อออกท่วมตัวระหว่างนอน

และภาวะหยุดหายใจชั่วคราวของเด็ก ตอนกลางวันอาจสังเกตได้จาก

  • มีปัญหาพฤติกรรมที่โรงเรียนหรือปัญหาเรื่องการเข้าสังคม
  • ปลุกตื่นยาก
  • ปวดศีรษะระหว่างวัน โดยเฉพาะตอนเช้า
  • เป็นคนขี้โมโห หงุดหงิด (Irritable) งุ่นง่าน (Agitated) ก้าวร้าว (Aggressive) และอารมณ์ร้าย (Cranky)
  • ง่วงนอนตอนกลางวัน
  • พูดด้วยเสียงขึ้นจมูกและหายใจทางปากเป็นประจำ

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรสนใจในเด็กและคอยสังเกตว่าเด็กฝันร้าย รู้สึกเหนื่อยหรือปวดศีรษะในตอนเช้าไหม หรือมีปัญหาปัสสาวะรดที่นอนในกรณีของเด็กโต

Dr. David Gozal ศาตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยลุยส์วิลล์ (University of Louisville) และกรรมการของโรงพยาบาลเด็กโคแชร์ (Kosair Children's Hospital) ได้ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการเรียนรู้และการหายใจตอนนอนที่ผิดปกติแล้วพบว่า

การกรนในเด็กมีสาเหตุมาจาก 3 อย่าง

อย่างแรกคือ ทางกายวิภาค เช่น การมีกรามเล็กหรือมีทางเดินหายใจแคบมาตั้งแต่กำเนิด

อย่างที่สองคือ มีความเป็นไปได้ที่กล้ามเนื้อและประสาทควบคุมกล้ามเนื้อไม่สัมพันธ์กันระหว่างการนอนหลับทำให้ทางเดินหายใจเปิดไม่มากพอ

และอย่างที่สามที่พบมาที่สุดก็คือ การที่เด็กมีต่อมทอนซิลและอะดีนอยด์ (Adenoids) ที่โต

แหล่งข้อมูล:

  1. Snoring in Children. http://www.sleepfoundation.org/article/hot-topics/snoring-children [2013, November 8].
  2. Dangers of snoring in kids. http://www.medicalnewstoday.com/releases/4257.php [2013, November 8].