นอนกรน นอนเสี่ยง (ตอนที่ 3)

โดยทั่วไประยะของการนอนสามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ ช่วงหลับฝัน (Rapid Eye Movement sleep = REM sleep) และช่วงหลับธรรมดา (Non-Rapid Eye Movement sleep = NREM sleep) การกรนมักเกิดในช่วงหลับฝัน ทั้งนี้เพราะสมองจะส่งสัญญาณให้กล้ามเนื้อของร่างกายทุกส่วนผ่อนคลาย แต่สำหรับกล้ามเนื้อที่ลิ้น เพดานอ่อน และคอนั้นเมื่อมีการผ่อนคลายจะทำให้ทางเดินหายใจแคบลงและเกิดเสียงกรนมากขึ้น

ท่านอนก็มีส่วนสัมพันธ์กับการกรน เพราะโดยปกติเมื่อเวลาที่เรานอนราบ แรงโน้มถ่วงของโลกจะดึงเนื้อเยื่อต่างๆ ขนานไปกับพื้น ดังนั้นเนื้อเยื่อในส่วนช่องคอหรือคอหอย (Pharynx) ที่นุ่มและย้อย รวมถึงเพดานอ่อน ต่อมทอนซิล และลิ้น จะไหลไปกองทางด้านหลัง ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงจนทำให้เกิดการปั่นป่วนของอากาศ เนื้อเยื่อสั่นสะเทือน และกรน

นอกจากนี้การดื่มแอลกอฮอล์หรือการใช้ยาที่ทำให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายระหว่างหลับ จะทำให้กล้ามเนื้อที่เพดานอ่อน ลิ้น คอ และช่องคอผ่อนคลายลง จนทำให้ทางเดินหายใจเล็กลงและเนื้อเยื้อเกิดการสั่นสะเทือนจนมีเสียงกรน ยิ่งยาที่ทำให้หลับลึกก็ยิ่งทำให้มีเสียงกรนมากขึ้น

บางครั้งการกรนอาจเป็นสัญญาณของปัญหาร้ายแรงอื่นๆ เช่น โรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea) หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea = OSA) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attacks) ประมาณร้อยละ 34 และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน (Strokes) ประมาณร้อยละ 67 นอกจากนี้อาจมีความผิดปกติของขากระตุกเป็นช่วงๆ (Periodic limb movement disorder) และโรคขากระตุก (Restless Legs Syndrome = RLS)

การประเมินถึงปัญหาของการนอนกรนสามารถทำได้โดยการสอบถามจากคนที่นอนด้วยหรือคนในบ้านถึง รูปแบบการนอน สุขอนามัยในการนอน การนอนระหว่างวัน การงีบระหว่างวัน และการตื่นกลางดึกบ่อยๆ

นอกจากนี้อาจตรวจสภาพร่างกายเพื่อประเมินน้ำหนักและดัชนีมวลกาย (Body mass index = BMI) การประเมินเส้นรอบวงของคอ (Neck circumference) การดูสภาพคอ จมูก และช่องปาก เพื่อดูว่าปากและช่องจมูกแคบขนาดไหน

การรักษาอาการกรนที่ไม่ใช้การผ่าตัดอาจทำได้โดย

  • การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
  • การใช้อุปกรณ์ทันตกรรมช่วย
  • การใช้อุปกรณ์เกี่ยวกับจมูกและยา
  • การใช้เครื่องเป่าความดันลมเพื่อเปิดขยายทางเดินหายใจ
  • ผลิตภัณฑ์อื่นๆ

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (Behavioral changes) เช่น การลดน้ำหนัก การเปลี่ยนท่านอน การนอนด้วยหมอนหนุนศีรษะเพียงใบเดียว การหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ การเลิกสูบบุหรี่ และการเปลี่ยนยาที่อาจทำให้กรน เช่น ยาระงับประสาท (Sedative medications)

แหล่งข้อมูล:

  1. Snoring. http://www.medicinenet.com/snoring/article.htm [2013, November 3].
  2. Snoring. http://en.wikipedia.org/wiki/Snoring [2013, November 4].