นมแม่ขายออนไลน์ ? (ตอนที่ 2)

นมแม่ให้ประโยชน์ทั้งกับตัวแม่และตัวลูก ซึ่งรวมถึงการช่วยลดความเสี่ยงในการหลับไม่ตื่นในเด็กทารก (Sudden Infant Death Syndrome = SIDS) การเพิ่มความฉลาด การลดการติดเชื้อของหูส่วนกลาง การมีภูมิต้านทานโรคหวัด การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก (Childhood leukemia) การลดความเสี่ยงในการเริ่มเป็นเบาหวานในเด็ก การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหอบหืด (Asthma) และโรคเรื้อนกวาง (Eczema) การลดปัญหาเกี่ยวกับฟัน การลดความเสี่ยงเรื่องอ้วนในเด็ก การลดความเสี่ยงในการเป็นโรคออทิซึม (Autism) และการลดความเสี่ยงในการผิดปกติทางด้านจิตใจ (Psychological disorders)

ในขณะที่แม่จะได้รับประโยชน์จากการที่มดลูกเข้าอู่เร็ว ลดภาวะตกเลือดหลังคลอด (Post-partum bleeding) น้ำหนักลดเหมือนก่อนตั้งครรภ์ นอกจากนี้การให้ลูกกินนมแม่ยังช่วงลดการเกิดมะเร็งที่เต้านมได้

ด้วยฮอร์โมนโปรแลกติน (Prolactin) และฮอร์โมนอ๊อกซิโตซิน (Oxytocin) ผู้หญิงจะผลิตน้ำนมเพื่อเลี้ยงลูกภายหลังจากที่เด็กเกิด น้ำนมแรกที่ผลิตได้ เรียกว่า คอลอสตรัม (Colostrum) ซึ่งจะมีอิมมูโนโกลบุลินกลุ่ม IgA (Immunoglobulin IgA) ที่ช่วยเคลือบระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract) ช่วยคุ้มครองเด็กแรกเกิดจนกว่าเด็กจะสามารถสร้างระบบภูมิคุ้มกันของตัวเองได้ เป็นเหมือนยาระบายอ่อนๆ ขับขี้เทา (Meconium) ออก และช่วยป้องกันการสร้างสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ซึ่งเป็นตัวทำให้เกิดโรคดีซ่าน

คอลอสตรัม (Colostrum) เป็นน้ำนมที่หลั่งออกวันแรกๆ หลังคลอด มีลักษณะสีเหลือง และข้นกว่าน้ำนมปกติ มีความเข้มข้นของ แคลเซียม โปแตสเซียม โปรตีน ไขมันที่ละลายน้ำ วิตามินต่างๆ เกลือแร่ และมีภูมิต้านทานสูงกว่าน้ำนมปกติ คอลอสตรัมยังช่วยให้ระบบย่อยของเด็กแรกเกิดเจริญเติบโตและทำหน้าที่ได้อย่างเหมาะสม

คอลอสตรัมจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นน้ำนม ในช่วง 3–4 วันแรกคอลอสตรัมจะดูใสและมีรสหวาน แต่หลังจากนั้นจะค่อยๆ ข้นขึ้น นมแม่จะช่วยทั้งดับความกระหายและความหิวของเด็ก

และระดับของอิมมูโนโกลบุลินกลุ่ม IgA (Immunoglobulin IgA) ในนมแม่จะยังมีสูงอยู่ในช่วงตั้งแต่วันที่ 10 จนถึงอย่างน้อย 7.5 เดือนหลังคลอด

จากผลการศึกษาพบว่าแม่ในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งขาดสารอาหารก็สามารถผลิตน้ำนมได้พอๆ กับแม่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่มีหลายสาเหตุที่แม่ไม่อาจผลิตน้ำนมได้พอเพียง โดยสาเหตุหลักได้แก่ การปฏิบัติไม่ถูกต้อง เช่น ทารกไม่สามารถอยู่กับหัวนม ไม่มีการให้นมหรือปั๊มนมก่อนเพื่อให้มีน้ำนมไหลพอ มีการใช้ยาบางชนิดอย่างยาคุมกำเนิดฮอร์โมน (Hormonal contraceptives) มีการเจ็บป่วย และมีภาวะขาดน้ำ (Dehydration)

ส่วนสาเหตุที่ไม่ค่อยพบก็คือ การเป็นโรคชีแฮน (Sheehan's syndrome) ที่ทำให้เกิดภาวะต่อมใต้สมองทำงานน้อยหลังคลอด (Postpartum hypopituitarism) ทำให้ขาดฮอร์โมนโปรแลกติน จึงต้องมีการใช้ฮอร์โมนทดแทน

จำนวนของน้ำนมที่ผลิตได้ขึ้นกับการที่แม่มีการให้นมและปั๊มนมแค่ไหน ยิ่งแม่ให้นมลูกหรือปั๊มนม ก็ยิ่งมีน้ำนมไหลมาก และเป็นการดีกว่าที่จะให้นมตามความต้องการของลูกมากกว่าการให้นมตามตารางเวลา

แหล่งข้อมูล:

  1. Breast milk. http://en.wikipedia.org/wiki/Snoring [2013, November 28].