ท้องผูก...ปัญหายอดฮิตของทุกวัย (ตอนที่ 1)

ท้องผูกเป็นปัญหาหนึ่งที่มักเกิดกับเด็กวัยซน การที่เด็กท้องผูกเป็นประจำจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจ ทั้งยังเป็นปัจจัยบ่งชี้ว่า เด็กกำลังได้รับสารอาหารที่ไม่สมดุล ไม่ครบถ้วนเพียงพอที่จะมีพัฒนาการตามวัย อาจารย์แววตา เอกชาวนา อาจารย์พิเศษ ภาควิชาคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนักโชนาการประจำโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในกรุงเทพเปิดเผยว่า

เด็กวัยอนุบาลถึงประถมต้นเป็นวัยที่มีพัฒนาการรวดเร็วมาก ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา ระบบภูมิต้านทาน และอารมณ์ พ่อแม่ต้องใส่ใจให้มาก ไม่ใช่แค่กินให้อิ่ม แต่ต้องให้ได้รับสารอาหารจำเป็นครบและสมดุล การที่เด็กมีอาการท้องผูกบ่อยๆ อุจจาระแข็ง ต้องออกแรงเบ่งมาก แสดงว่ากินผักผลไม้น้อย

นอกจากนี้ ยังเป็นข้อบ่งชี้ให้ประเมินเบื้องต้นในการขาดกากใยอาหารแล้ว และขาดวิตามินและเกลือแร่ หลากหลายชนิด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากในการเสริมสร้างภูมิต้านทานป้องกันโรค และช่วยร่างกายดูดซึมสารอาหารที่จำเป็นต่างๆสู่ร่างกาย ซึ่งอาการท้องผูกยังเป็นตัวป่วนสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของเด็ก ทำให้เด็กอึดอัดท้อง กังวล หงุดหงิด เสียสมาธิในการเรียนและการทำกิจกรรมต่างๆ

ปัญหาท้องผูก (Constipation) ไม่ใช่ปัญหาที่เกิดเฉพาะกับเด็กเท่านั้น แต่คนทุกคน ทุกวัย ล้วนต้องเคยประสบกับปัญหานี้มาบ้างแล้วทั้งสิ้น เมื่อพบเจอปัญหานี้ ไม่ว่าใครก็ล้วนไม่อยากพูดถึง นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความรู้สึกอึดอัดทั้งกายและใจอีกด้วย

อาการท้องผูกเกิดขึ้นเมื่อการขับถ่ายอุจจาระน้อยลงและยากลำบากขึ้น ช่วงความยาวระยะห่างการขับถ่ายของคนแต่ละคนก็แตกต่างกันไป บางคนอาจขับถ่ายบ่อยถึง 3 ครั้งต่อวัน หรือบางคนอาจห่างถึงเพียง 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การไม่ได้ขับถ่ายเป็นเวลานานเกิน 3 วัน จัดว่านานเกินไป หลังจาก 3 วัน อุจจาระจะแข็งและทำให้ขับถ่ายลำบาก

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณท้องผูก? สำรวจตนเอง หากคุณประสบอาการเหล่านี้ อย่างน้อย 2 - 3 อาการตลอดระยะเวลาอย่างต่ำ 3 เดือน

  • อาการอึดอัด และตึงเครียดเมื่อขับถ่าย บ่อยกว่า 25%
  • อุจจาระแข็งบ่อยกว่า 25%
  • อาการขับถ่ายไม่หมดบ่อยกว่า 25%
  • ขับถ่ายเพียง 2 ครั้งหรือต่ำกว่านั้นต่อสัปดาห์

อาการท้องผูกนั้นเกิดจากระบบการขับถ่ายที่ผิดปกติ มากกว่าจะเป็นเพราะปัญหาทางโครงสร้าง สาเหตุโดยทั่วไปของอาการท้องผูก เกิดจาก การดื่มน้ำไม่เพียงพอ ได้รับไฟเบอร์ไม่พอจากการกินอาหาร การกินอาหารหรือชีวิตประจำวัน ที่ผิดแผกไป เช่น การเดินทาง ออกกำลังกายไม่เพียงพอ กินผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมมากเกินไป และความเครียด

แหล่งข้อมูล:

  1. ท้องผูก ปัจจัยชี้ปัญหาสุขภาพเด็ก http://www.thairath.co.th/content/life/316133 [2013, January 6].
  2. The Basics of Constipation. http://www.webmd.com/digestive-disorders/digestive-diseases-constipation [2013, January 6].