ท่อยูสเตเชียน (Eustachian tube)

ท่อยูสเตเชียน อาจเรียกได้อีกชื่อว่า Auditory tube หรือ Pharyngotympanic tube เป็นท่อขนาดเล็ก มี 2 ข้าง ซ้ายและขวา เป็นท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูชั้นกลางกับด้านข้างของโพรงหลังจมูกในลำคอ และจัดเป็น เนื้อเยื่อในหูชั้นกลาง (อ่านเพิ่มเติม ได้ในเว็บ haamor. com ในบทความเรื่อง กายวิภาคและสรีรวิทยาหู) ดังนั้น โรคของท่อนี้จึงดูแลรักษาโดยแพทย์ หูคอจมูก (โสต ศอ นาสิก) หรือที่เรามักเรียกทับศัพท์ย่อภาษาอังกฤษว่า หมอ อีเอ็นที (ENT, Ear Nose Throat)

ท่อยูสเตเชียน ได้ชื่อมาจากนักกายวิภาคชาวอิตาเลียน ชื่อ Bartolomeo Eustachi ที่เป็นคนบรรยายถึงเนื้อเยื่อชิ้นนี้เป็นคนแรก

ท่อยูสเตเชียน มีความยาวประมาณ 35 มิลลิเมตร มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1-3 มิลลิ เมตร โดยตอนต้นของท่อ ช่วงที่ต่อออกจากหูชั้นกลาง ผนังท่อจะเป็นกระดูก แต่ต่อจากนั้นจะเป็นกระดูกอ่อน ซึ่งการเปิด- ปิดของท่อนี้ เพื่อช่วยปรับความดันระหว่างในหูชั้นกลางกับในอา กาศ (ในลำคอ) ให้อยู่ในสมดุล เพื่อคงความดันให้ปกติในหูชั้นกลาง เป็นการปกป้องเนื้อเยื่อหูชั้นกลาง (แก้วหู และกระดูกหูชั้นกลาง) ไม่ให้บาดเจ็บจากการเปลี่ยนแปลงความดันทั้งจากอา กาศ เสียงต่างๆ รวมทั้งจากการคั่งค้างของสารคัดหลั่งจากหูชั้นกลาง แต่ทั้งนี้ การเคี้ยว การกลืน การหาว จะช่วยให้ท่อนี้เปิดได้ ซึ่งเป็นวิธีธรรมชาติที่ช่วยปรับความดันในหูชั้นกลางให้อยู่ในสมดุล

อนึ่ง ท่อยูสเตเชียน ยังเป็นช่องทางกำจัดเมือก/สารคัดหลั่งต่างๆจากหูชั้นกลางออกสู่ภายนอกร่างกาย ผ่านออกสู่ลำคอ ซึ่งถ้าท่อนี้บวม (รูท่อปิด/อุดตัน) ที่มักเกิดจากภาวะติดเชื้อในระบบหูคอจมูก และ/หรือระบบทางเดินหายใจ สารคัดหลั่งเหล่านี้จะกำจัดออกมาจากหูชั้นกลางไม่ได้ จึงเกิดการคั่งอยู่ในหูชั้นกลาง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลางได้

ทั้งนี้ ถ้าความดันระหว่างหูชั้นกลางและอากาศภายนอกไม่สมดุล จะก่อให้เกิด อาการหูอื้อ/หรือบางคนบรรยายว่ามีเสียงในหู และ/หรือร่วมกับอาการปวดหู

โรคที่พบบ่อยของท่อยูสเตเชียน คือ อาการเจ็บ/ปวดหู หรือ หูอื้อ จากท่อนี้อุดตัน เช่น ท่อบวมจากการอักเสบติดเชื้อ เช่น ในโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ (เช่น จากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อย เช่น โรคหวัด) และของหูคอจมูก (เช่น หูติดเชื้อ และหูชั้นกลางติดเชื้อเรื้อ รัง) และที่พบได้บ้าง คือ จากโรคมะเร็งโพรงหลังจมูก ที่ก้อนเนื้อมะเร็งจะไปอุดตันรูเปิดของท่อยูสเตเชียน ส่งผลให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการหูอื้อเรื้อรังได้

ดังนั้น เมื่อมีอาการหูอื้อ หรือมีเสียงในหูเรื้อรัง ควรต้องพบแพทย์เสมอ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุที่แน่นอน เพื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ

บรรณานุกรม

  1. Eustachian tube http://en.wikipedia.org/wiki/Eustachian_tube [2013, Nov7].