ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

ท่อปัสสาวะอักเสบ (Urethritis) คือ การบาดเจ็บ อักเสบ บวม ของเซลล์เนื้อเยื่อเมือกที่บุท่อปัสสาวะ เกิดได้จากหลายสาเหตุแต่พบบ่อยที่สุด คือ จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย, อาการพบบ่อย เช่น  แสบขัดเมื่อปัสสาวะ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่  อาจมีสารคัดหลั่งออกมาจากปากท่อปัสสาวะ และอาจมีปัสสาวะเป็นเลือดร่วมด้วย

ท่อปัสสาวะคืออวัยวะอะไร?

ท่อปัสสาวะ (Urethra) เป็นท่อยาวขนาดเล็ก มีท่อเดียว เชื่อมต่อออกจากกระเพาะปัสสาวะและเปิดออกสู่ภายนอกร่างกายในบริเวณอวัยวะเพศภายนอก (ปากท่อปัสสาวะ)

ท่อปัสสาวะ มีหน้าที่นำส่งปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย, ผนังท่อปัสสาวะประกอบด้วยเนื้อเยื่อหลัก คือเนื้อเยื่อเมือกบุภายในท่อ และกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่บีบตัวเพื่อการขับส่งน้ำปัสสาวะ

ในเพศชาย: ท่อปัสสาวะจะมีขนาดยาวโดยเฉลี่ยประมาณ 20 เซนติเมตร (ซม.) และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มิลลิเมตร (มม.), โดยมีทั้งส่วนที่อยู่ภายใน และส่วนที่อยู่ภายนอกร่างกาย ส่วนสั้นๆจะอยู่ภายในร่างกาย เป็นส่วนที่ติดกับกระเพาะปัสสาวะ และหุ้มล้อมด้วยต่อมลูกหมาก, ส่วนที่เหลือต่อจากนั้น เป็นส่วนมีขนาดยาวกว่า อยู่ภายในตรงกลางตลอดความยาวของอวัยวะเพศชาย  ท่อปัสสาวะเพศชายส่วนใหญ่จึงเป็นอิสสระอยู่ภายนอกร่างกาย และมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงได้น้อยกว่าในเพศหญิงมาก ดังนั้นโอกาสเกิดการติดเชื้อของท่อปัสสาวะในผู้ชายจึงพบน้อยกว่าในผู้หญิงมาก ซึ่งส่วนใหญ่ เกิดจาก ‘โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เรียกย่อว่า โรคเอสทีไอ หรือ โรคเอสทีดี (STI, Sexual transmitted infection หรือ STD, Sexual transmitted disease หรือ Venereal disease/กามโรค), ซึ่งโรคที่เป็นสาเหตุบ่อยของท่อปัสสาวะอักเสบ คือ โรค 'หนองใน' บางคนเรียกว่า โรคหนองในแท้,และโรค 'หนองในเทียม'

ในเพศหญิง: ท่อปัสสาวะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3-4 มม. เช่นเดียวกับในเพศชาย แต่มีขนาดสั้นกว่ามาก ยาวเพียงประมาณ 4 ซม. และอยู่ในร่างกายทั้งหมด, โดยมี         รูเปิดนำปัสสาวะออกนอกร่างกายในบริเวณใต้แคมเล็กของอวัยวะเพศภายนอก ซึ่งใกล้กับปากช่องคลอดและปากทวารหนัก ดังนั้นท่อปัสสาวะในเพศหญิงจึงติดเชื้อได้ง่ายกว่าใน เพศชายมาก เพราะสัมผัสกับเชื้อโรคโดยตรงจาก อวัยวะเพศภายนอก  มดลูก ปากมดลูก  ช่องคลอด  อุจจาระ/ปากทวารหนัก และจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ พบบ่อยทั่วโลก(จากโรคหนองในประมาณ 62 ล้านคน/ปี, และจากโรคติดเชื้อที่’ไม่ใช่หนองใน’ประมาณ 89 ล้านคน/ปี), พบทุกเพศ (มีรายงานทั่วโลกพบท่อปัสสาวะอักเสบจากหนองในเทียมประมาณ3.8%ในเพศหญิง และ 0.7%ในเพศชาย),  พบทุกวัย  ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) จนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งมักมีสาเหตุจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะจากหนองในเทียม ดังนั้นท่อปัสสาวะอักเสบจึงพบสูงในช่วงวัยที่มีเพศสัมพันธ์สูง คือ  20-35 ปี

โรคท่อปัสสาวะอักเสบเกิดได้อย่างไร?

 

สาเหตุที่ทำให้เกิดท่อปัสสาวะอักเสบ//โรคท่อปัสสาวะอักเสบ ที่พบบ่อย คือ จากการติดเชื้อ (ประมาณ 80-95%ของการอักเสบทั้งหมด) และสาเหตุที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อ (ประมาณ 5-20%)

  • สาเหตุจากการติดเชื้อ: ที่พบบ่อย คือ จากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และส่วนน้อยเกิดจากเชื้ออื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับเพศสัมพันธ์
  • โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์: ยังแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย คือ
  • กลุ่มติดเชื้อจากโรคหนองใน หรือโกโนเรีย
  • และ กลุ่มติดจากเชื้อที่ไม่ใช่หนองใน: เช่น โรคเริม, โรคซิฟิลิส, โรคหนองในเทียม,  การติดเชื้อทริโคโมแนส,  เอชไอวี, หรือ โรคเอดส์
  • การติดเชื้อที่ไม่ใช่จากเพศสัมพันธ์: เช่นเชื้อ อีโคไล ( coli), สแตฟ (Staphylococcus), หรือ  ซูโดโมแนส (Pseudomonas) ซึ่งอาจติดต่อผ่านมาจาก ลำไส้ (ทางอุจจาระ), หรือทางไต/กระเพาะปัสสาวะและทางน้ำปัสสาวะ 
  • สาเหตุที่ไม่ใช่จากการติดเชื้อ: แต่อาจก่อการติดเชื้อตามมาได้ในภายหลัง ที่พบบ่อย เช่น
  • การบาดเจ็บของท่อปัสสาวะจากการสวนปัสสาวะเช่น  ในการผ่าตัด การใส่คา สายสวนปัสสาวะในผู้ป่วยอัมพาต  

เนื้อเยื่อเมือกบุท่อปัสสาวะได้รับสารก่อการระคายเคืองต่างๆ  เช่น น้ำยา หรือ สเปรย์ ต่างๆที่ใช้ทำความสะอาด หรือ ดับกลิ่น บริเวณอวัยวะเพศ

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคท่อปัสสาวะอักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ เช่น 

  • ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์
  • ผู้ชายช่วงวัย 20-35 ปี
  • มีเพศสัมพันธ์สำส่อน
  • ไม่ใช้ถุงยางอนามัยชายในการมีเพศสัมพันธ์
  • มีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน
  • มีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักหรือ ทางปาก
  • ผู้หญิงที่คุมกำเนิดโดยใช้ยาฆ่าเชื้ออสุจิเพราะยาจะก่อการระคายเคือง และบาดเจ็บต่ออวัยวะเพศและต่อปากท่อปัสสาวะจึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

ผู้หญิงที่คุมกำเนิดด้วยการใส่ฝาครอบปากมดลูก (Diaphragm) เพราะในการสวมใส่ จะก่อการบาดเจ็บต่อช่องคลอดและปากท่อปัสสาวะ และ/หรือจากความไม่สะอาดของฝาครอบฯ จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่าย

โรคท่อปัสสาวะอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ  ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย มีทั้งที่เหมือนกัน และที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพราะจากลักษณะทางกายวิภาคบางอย่างที่แตกต่างกันในทั้ง 2 เพศ

ก. อาการท่อปัสสาวะอักเสบใน’เพศหญิง’: ที่พบบ่อย เช่น

  • อาจไม่มีอาการ:  แต่เมื่อมีการตรวจปัสสาวะแล้วพบผิดปกติ แต่เชื้อโรคสามารถติดต่อสู่คู่นอนได้ถ้าเกิดจากการติดเชื้อ
  • ปวดแสบ ขัด เวลาถ่ายปัสสาวะ
  • ปัสสาวะบ่อย มักครั้งละน้อยๆ แต่ทั้งนี้ขึ้นกับปริมาณน้ำดื่มด้วย
  • อาจมีปัสสาวะเป็นเลือด เป็นหนอง และ/หรือขุ่น กลิ่นฉุนกว่าปกติ
  • ปวดท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน แต่บางคนอาจปวดท้องทั่วไปร่วมด้วยได้
  • บางคนอาจมีไข้ มีได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ อาจรู้สึกหนาวสั่น
  • อาจมีตกขาว เมื่อเกิดร่วมกับการติดเชื้อของ มดลูก ปากมดลูก และ/หรือช่องคลอด
  • เจ็บปวดเมื่อมีเพศสัมพันธ์/ เจ็บเมื่อร่วมเพศ

ข. อาการท่อปัสสาวะอักเสบใน’เพศชาย’: ที่พบบ่อย เช่น

  • อาจไม่มีอาการ: ตรวจพบได้จากการตรวจปัสสาวะพบผิดปกติ แต่เชื้อโรคสามารถติดต่อสู่คู่นอนได้เมื่อเกิดจากการติดเชื้อ เช่นเดียวกับในเพศหญิง
  • ปัสสาวะแสบ ขัด อาจ ปัสสาวะเป็นเลือดเป็นหนอง ขุ่น ปัสสาวะบ่อย กลั้นปัสสาวะไม่อยู่
  • อาจมีไข้มีได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ หรือ ไม่มีไข้
  • อาจมีหนองออกจากปลายท่อปัสสาวะ (ปลายอวัยวะเพศ)
  • อาจคลำได้ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบบวมโตเจ็บ ข้างเดียว หรือ ทั้งสองข้าง
  • เจ็บปวด เมื่อมีเพศสัมพันธ์ และเมื่อหลั่งน้ำอสุจิ

แพทย์วินิจฉัยโรคท่อปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ  ได้จาก:

  • ประวัติอาการของผู้ป่วย  ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ 
  • การตรวจร่างกายรวมถึงการตรวจอวัยวะเพศภายนอก
  • การตรวจภายในในผู้หญิง
  • การตรวจปัสสาวะรวมถึง การตรวจเชื้อ และ/หรือ การตรวจเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และ/หรือจากสารคัดหลั่งจากท่อปัสสาวะ 

อาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เพื่อหาสาเหตุ เช่น ตรวจเลือดเมื่อสงสัยติดเชื้อเอชไอวีหรือโรคเอดส์ เป็นต้น

รักษาโรคท่อปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ คือ การรักษาสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ คือ การกินยาปฏิชีวนะเพราะมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียดังกล่าวแล้ว ซึ่งชนิดยาปฏิชีวนะรวมถึงขนาดยาและระยะเวลาใช้ยาจะต่างกันขึ้นกับแต่ละโรค(แนะนำอ่านรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุฯได้จากเว็บhaamor.com)

นอกจากนั้น คือ การรักษาตามอาการ เช่น

  • ให้ยาบรรเทาอาการปวด แสบ เมื่อปัสสาวะ
  • ดื่มน้ำมากกว่าปกติ เช่น วันละ 8-10 แก้ว หรือ 1-2 ลิตร เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • ควรหยุดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะรักษาโรคได้หาย

*อนึ่ง: ที่สำคัญที่สุดอีกประการ คือ ควรต้องให้การรักษาคู่นอนด้วยเมื่อโรคเกิดจากการติดเชื้อ ถึงแม้บางคนไม่มีอาการก็ตาม

โรคท่อปัสสาวะอักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ ขึ้นกับสาเหตุ แต่โดยทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง รักษาได้หายเสมอ ยกเว้นในโรคติดเชื้อ เอชไอวี หรือโรคเอดส์ หรือ เมื่อเกิดจากการต้องใส่คาสายสวนปัสสาวะตลอดไปจากโรคอัมพาต

ผลข้างเคียงจากโรคท่อปัสสาวะอักเสบ: มักเกิดจากได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง เช่น ซื้อยาปฏิชีวนะกินเองจนเกิดเชื้อดื้อยา, และที่พบบ่อยในเพศหญิง คือ การติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน,  ภาวะมีบุตรยาก, และการท้องนอกมดลูก

อนึ่ง: โรคท่อปัสสาวะอักเสบ ไม่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคมะเร็ง และไม่กลายพันธ์เป็นโรคมะเร็ง

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์/มาโรงพยาบาล  เมื่อมีท่อปัสสาวะอักเสบ/โรคท่อปัสสาวะอักเสบ หรือคู่นอนมีอาการ คือ

  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรรักษาตัวเองเมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ และโดยเฉพาะเป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวใน’หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ’ ทั้งนี้เพื่อ  แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุ หลังจากนั้น กินยาและปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ รวมทั้งนำคู่นอนมาพบแพทย์ด้วย
  • นอกจากนั้น เช่น
  • งดมีเพศสัมพันธ์จนกว่าโรคจะหาย
  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้มากขึ้นดังกล่าวแล้วใน’หัวข้อการรักษาฯ’
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบทุกมื้อ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน(สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ไม่ซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพื่อป้องกันเชื้อดื้อยา

ป้องกันโรคท่อปัสสาวะอักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันท่อปัสสาวะอักเสบ/ โรคท่อปัสสาวะอักเสบ คือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งต่างกันในแต่ละสาเหตุ แต่สาเหตุพบบ่อยที่สุด คือ การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งการป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญ คือ

  • ไม่สำส่อนทางเพศ
  • เมื่อเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ควรต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้องจากแพทย์ ทั้งตัวผู้ป่วยเอง และทั้งคู่นอน
  • ใช้ถุงยางอนามัยชายชนิดที่ได้มาตรฐานเสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. J. (2010). Diagnosis and treatment of urethritis in men. Am Fam Physician 81, 873-878.
  3. Kodner, C., and Gupton, E. (2010). Recurrent urinary tract infections in women: Diagnosis and management. Am Fam Physician. 82, 638-643.
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Urethra [2022,Sept24]
  5. https://emedicine.medscape.com/article/438091-overview#showall [2022,Sept24]
  6. https://en.wikipedia.org/wiki/Urethritis [2022,Sept24]