ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทาบรัศมีต่างชาติ (ตอนที่ 4)

นางประภา วงศ์แพทย์ นายกสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ไทย (Thai Medical Tourism Association) กล่าวว่า ผลสำรวจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในเอเชีย ปี พ.ศ. 2553 พบว่า ประเทศไทยมีส่วนแบ่งการตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพถึง 40% ของประเทศในเอเชียทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโต 10% ต่อปี เพราะไทยมีศักยภาพการตลาดมาก

การคาดคะเนดังกล่าว เกิดจากการที่ประเทศไทยมีบริการทางสุขภาพที่หลากหลาย บุคลากรมีจุดแข็งด้านการมีจิตใจให้บริการ [Service mind] และประเทศก็มีแหล่งท่องเที่ยวรองรับตลาดที่ต้องการมาใช้บริการสุขภาพและพักผ่อนไปด้วยในตัว โดยบริการสุขภาพที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติ มีทั้งการรักษาพยาบาล ทำศัลยกรรม และล่าสุดที่เริ่มได้รับความนิยมมากคือ การมาตรวจรักษาฟัน

ไทยเป็นประเทศชั้นนำในเอเชีย ในเรื่องการท่องเทียวเชิงสุขภาพหรือเชิงการแพทย์ (Health or medical tourism) จำนวนนักท่องเที่ยวดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ศตวรรษใหม่ที่ 21 เป็นต้นมา จนไต่ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆ ของตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของตลาดโลก

เหตุผลหลักของการเติบโตอย่างต่อเนื่องของตลาดในประเทศไทย ก็คือต้นทุนต่ำของการรักษาพยาบาล คุณภาพของการให้บริการโดยโรงพยาบาลเอกชน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ โดยภาพรวม ประเทศไทยมีโรงพยาบาลประมาณ 1,000 แห่ง เป็นโรงพยาบาลเอกชนประมาณ 300 แห่ง

ประเทศไทยมีโรงพยาบเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และมีโรงพยาบาลแห่งแรกของเอเชียที่ได้รับการรับรองคุณภาพ ISO 9001 และโรงพยาบาลที่ได้มาตรฐานสากล JCI [Joint Commission International] ถึง 14 แห่ง ทั้งหมดนี้เป็นโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งช่วยผลักดันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

โรงพยาบาลระดับสากลที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ ได้แก่ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ และกลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวช แพทย์ในโรงพยาบาลเหล่านี้ มีรายได้มากกว่าโรงพยาบาลรัฐอยู่ 70% ประมาณ 30-50% ของผู้ป่วยในโรงพยาบาลเหล่านี้ เป็นชาวต่างชาติ ผู้ค้นพบว่าค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเหล่านี้ ต่ำกว่าในประเทศของตนซึ่งเป็นพัฒนาแล้วหลายเท่าตัว แม้ว่าราคาในโรงพยาบาลเหล่านี้อยู่สูงไกลเกินเอื้อมของประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่

หัตถการที่นิยมในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในประเทศไทย ได้แก่ ศัลยกรรมตกแต่ง/พลาสติก (Cosmetic/plastic surgeries) หัตถกรรมทันตกรรม (Dental procedure) การตรวจสุขภาพประจำปี (Medical check-up) หัตถการหัวใจ (Cardiac procedure) ศัลยกรรมกระดูกและข้อ (Orthopedic surgery) การบำบัดผู้มีบุตรยาก (Infertility treatment) การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) จักษุเวชศาสตร์ (Ophthalmology) และการผ่าตัดตา (Eye surgery) นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เดินทางมายังประเทศไทยจากทั่วทุกมุมโลก โดยแหล่งต่างๆ (ตามลำดับความสำคัญการก่อให้เกิดรายได้) ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา จีน สหราชอาณาจักรอังกฤษ ยุโรปตะวันตก และออสเตรเลีย

แหล่งข้อมูล:

  1. ททท.จัดงานโชว์ศักยภาพบริการสุขภาพไทย http://www.dailynews.co.th/businesss/154546.[2012, September 19].
  2. Thailand Medical Tourism. http://www.health-tourism.com/thailand-medical-tourism/[2012, September 19].