ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทาบรัศมีต่างชาติ (ตอนที่ 3)

โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่จะเดินสายทำตลาดร่วมกับงานที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ เฉลี่ยกว่า 10 ครั้งต่อปี ซึ่งปีนี้จะเน้นตลาดตะวันออกกลางเพิ่มขึ้น ส่วนที่ผ่านมาต่างชาติที่มามากคือออสเตรเลียและตะวันออกกลาง โดยออสเตรเลียนิยมมาทำศัลยกรรม ละทำฟัน ส่วนตะวันออกกลา นิยมมารักษาโรคเรื้อรัง

ทั้งนี้ภาคเอกชนต้องการให้ภาครัฐจัดตั้งองค์กรขึ้นมาเพื่อดูแลด้านการประชาสัมพันธ์ธุรกิจโรงพยาบาลไทยกับตลาดต่างประเทศ เหมือนประเทศเกาหลีใต้ เพราะปัจจุบันมีหลายหน่วยงานสนับสนุนการทำตลาดในต่างประเทศ แต่เป็นการสนับสนุนจัดงานขนาดไม่ใหญ่ งบประมาณทำตลาดไม่มาก หากรวมกันเป็นหน่วยงานเดียวกัน น่าจะช่วยให้เกิดประสิทธิภาพการตลาดขนาดใหญ่กว่านี้ และทำให้ธุรกิจบริการสุขภาพและความงามไทยแข่งขันกับประเทศคู่แข่งได้ดีขึ้น

นักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพหรือเชิงการแพทย์ (Health or medical tourists) มาจากประเทศต่างๆ ในยุโรป ตะวันออกกลาง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และแคนาดา ปัจจัยที่ผลักดันให้เกิดความต้องการของประเทศพัฒนาแล้วในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ได้แก่ ประชากรจำนวนมาก ความมั่งคั่งที่สูงกว่า ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพสูง ปราศจากทางเลือกในประเทศ และความคาดหวังที่เพิ่มขึ้นของประชากรในเรื่องการดูแลสุขภาพ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีศักยภาพสูงสำหรับประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว การวิจัยของบริษัท Deloitte Consulting ซึ่งตีพิมพ์ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2551 พยากรณ์ว่า การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่เกิดจากสหรัฐอเมริกา จะก้าวกระโดด 10 เท่าตัวในทศวรรษหน้า ซึ่งจะมีผลทำให้ผู้ให้บริการในประเทศสูญเสียรายได้นับพันๆ ล้านดอลลาร์

ผู้ป่วยในประเทศพัฒนาแล้ว พบว่ากรมธรรม์ประกันสุขภาพของตนไม่คุ้มครองศัลยกรรมกระดูกและข้อ (Orthopedic surgery) อาทิ การเปลี่ยนเข่าหรือสะโพกเทียม (Knee/hip replacement) หรือมีข้อจำกัดการเลือกโรงพยาบาล ศัลยแพทย์ หรืออวัยวะเทียม (Prosthetics) ที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการอาหารและยา (Food and Drug Administration : FDA)

ประเทศโคลัมเบียสามารถให้บริการดังกล่าวในราคาเพียง $5,000 (ประมาณ 150,000 บาท ซึ่งรวมค่าผ่าตัดและอวัยวะเทียมที่ได้รับอนุมัติจาก FAD สหรัฐอเมริกา หัตถการนี้ จึงเป็นที่ยอดนิยมของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าหลายเท่าตัว และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางไป-กลับเพื่อรับการผ่าตัด

ค่าศัลยกรรมในประเทศไทย อินเดีย หรืออัฟริกาใต้ อาจเป็นเพียง 1 ใน 10 ของค่าใช้จ่ายในประเทศสหรัฐอเมริกาหรือยุโรปตะวันตก อาทิ การเปลี่ยนลิ้นหัวใจ (Heart-valve replacement) ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูงถึง $200,000 (ประมาณ 6,000,000 ล้านบาท) หรือมากกว่า ในประเทศสหรัฐอเมริกา อาจมีค่าใช้จ่ายเพีย $10,000 (ประมาณ 300,000 บาท) ในอินเดีย ซึ่งได้รวมค่าเดินทางไป-กลับ และค่าท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจขนาดย่อมด้วย

การทำสะพานฟันที่ปราศจากโลหะ (Metal-free dental bridge) ต้องเสียค่าใช้จ่าย $5,500 (ประมาณ 165,000 บาท) ในสหรัฐอเมริกา แต่ค่าใช้จ่ายนี้ลดลง 10 เท่าตัว ในอินเดีย การผ่าตัดเปลี่ยนเข่าเทียม ในประเทศไทยซึ่งรวมค่าทำกายภาพบำบัดหลังการผ่าตัด อีก 6 วัน จะมีค่าใช้จ่ายเพียง 1 ใน 5 ของค่าใช้จ่ายในสหรัฐอเมริกา การทำศัลยกรรมตกแต่ง (Cosmetic surgery) ยิ่งประหยัดมาก เมื่อเทียบค่าใช้จ่ายในการกระชับหน้า (Face-lift) $20,000 (ประมาณ 600,000 บาท) ในสหรัฐอเมริกา กับค่าใช้จ่ายในหัตถการเดียวกัน ในราคา $1,250 (ประมาณ 37,500 บาท) ในประเทศอัฟริกาใต้

แหล่งข้อมูล:

  1. ททท.จัดงานโชว์ศักยภาพบริการสุขภาพไทย http://www.dailynews.co.th/businesss/154546.[2012, September 18].
  2. Medical tourism. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_tourism [2012, September 18].