ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทาบรัศมีต่างชาติ (ตอนที่ 2)

นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่างาน Thailand Medical and Wellness Tourism Trade Fair - Trip 2012 จะช่วยแสดงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางการให้บริการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ (Health or medical hub ) ได้ดีขึ้น

เท่าที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาใช้บริการทางสุขภาพปีละกว่า 2 ล้านราย และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ว่าการ ททท. มั่นใจว่าการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (ผ่านโรงพยาบาล นวด และสปา) จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รายได้ท่องเที่ยวไทยถึง 2 ล้านล้านบาทในปี พ.ศ. 2558 ตามนโยบายรัฐบาล

เหตุการณ์แรก (เท่าที่จากรึกในประวัติศาสตร์) ของการท่องเที่ยงเชิงสุขภาพ หรือเชิงการแพทย์ (Health or medical tourism) ย้อนหลังกลับไปเป็นพันๆ ปี เมื่อผู้แสวงบุญชาวกรีก เดินทางทั่วทะเลเมดิเตอเรเนียน (Mediterranean) ไปยังดินแดนเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ชื่อ “อิพิดาวเรีย” (Epidauria) ซึ่งเป็นสถานศักดิ์ของเทพเจ้าแห่งการเยียวยา (Healing god) คำว่า “อิพิดาวเรีย” จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางที่มีจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

เมืองบ่อน้ำแร่ (Spa town) และสถานีอนามัย (Sanitariums) เป็นรูปแบบรุ่นบุกเบิกของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ในศตวรรษที่ 18 ผู้ป่วยในประเทศอังกฤษ จะเดินทางไปยังสถานที่มีบ่อน้ำแร่ เพื่อการรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยน้ำแร่ (Mineral water) ตั้งแต่โรคเก๊าต์ (Gout) ไปจนถึงความผิดปรกติของตับ (Liver disorder) และหลอดลมอักเสบ (Bronchitis)

ในปัจจุบัน ปัจจัยที่นำไปสู่ความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลายในประเทศที่พัฒนาแล้ว ของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ได้แก่ ต้นทุนสูงของการดูแลสุขภาพ การรอคอยที่ยาวนานของบางหัตถการ (Procedure) ความง่ายและค่าใช้จ่ายพอประมาณของการเดินทางระหว่างประเทศ ตลอดจนเทคโนโลยีและมาตรฐานของการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้นในหลายๆ ประเทศ

การหลีกเลี่ยงการรอคอยที่ยาวนาน เป็นปัจจัยหลักของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับชาวอังกฤษ ในขณะที่ราคาถูกกว่า เป็นปัจจัยการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสำหรับชาวอเมริกัน ในปี พ.ศ. 2552 มีผู้ป่วยจำนวน 60,000 คนที่เดินทางจากประเทศอังกฤษไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ

ในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หัตถการการผ่าตัด (Surgery procedure) มักมีค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อาทิ การผ่าตัดเปลี่ยนตับ (Liver transplant) มีค่าใช้จ่าย $300,000 (ประมาณ 9,000,000 บาท) ในสหรัฐอเมริกา เปรียบเทียบกับ $91,000 (ประมาณ 2,730,000 บาท) ในไต้หวัน

นอกจากนี้ ปัจจัยจูงใจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ยังได้แก่ความสะดวกและรวดเร็ว ระบบสาธารณสุขของประเทศรัฐสวัสดิการ มักมีกฎเกณฑ์หยุมหยิม จนต้องใช้เวลารอคอยยาวนานมาก ในการรับบริการดูแลสุขภาพที่ไม่รีบด่วน อาทิ ในปี พ.ศ. 2548 ชาวแคนาดา 782,936 คน ใช้เวลารอยคอย ถัวเฉลี่ย 9.4 สัปดาห์ ส่วนเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ของการรอคอยอยู่ที่ 26 สัปดาห์ สำหรับการผ่าตัดเปลี่ยนสะโพก (Hip replacement) และ 16 สัปดาห์ สำหรับการผ่าตัดต้อกระจกตา (Cataract surgery)

แหล่งข้อมูล:

  1. ททท.จัดงานโชว์ศักยภาพบริการสุขภาพไทย http://www.dailynews.co.th/businesss/154546.[2012, September 17].
  2. Medical tourism. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_tourism [2012, September 17].