ท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ ทาบรัศมีต่างชาติ (ตอนที่ 1)

เมื่อเร็วๆ นี้ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ เซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพฯ นายสุรพล เศวตเศรนี ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้จัดงานไทยแลนด์ เมดิคัล แอนด์ เวลล์เนส ทัวริสซึ่ม เทรด แฟร์ - ทริป 2012 (Thailand Medical and Wellness Tourism Trade Fair - Trip 2012)

งานดังกล่าวเปิดโอกาสให้ตัวแทนขายธุรกิจเพื่อสุขภาพและบริษัทประกันในไทย 88 บริษัท จาก 18 ประเทศทั่วโลก ได้มารับรู้สินค้าและบริการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในไทย โดยมีผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงาน 110 ราย จากธุรกิจโรงพยาบาล นวดและสปา บริการเสริมความงาม และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือเชิงการแพทย์ (Heath or medical tourism) หมายถึงการเดินทางไปยังอีกประเทศเหนึ่งเพื่อการรักษาพยาบาล ในปี พ.ศ. 2550 มีชาวอเมริกันประมาณ 750,000 คนเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลในประเทศอื่นถูกกว่าในสหรัฐอเมริกามา

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นคำที่บัญญัติขึ้นโดยบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านเดินทางท่องเที่ยว และการประโคมข่าวของสื่อมวลชน เพื่อรายงานกิจกรรมการเดินทางข้ามพรมแดนไปประเทศอื่น เพื่อรับบริการดูแลสุขภาพ รวมทั้งกิจกรรมของผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศเพื่อให้บริการดูแลสุขภาพ

ในการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ มีทั้งหัตถการเล็ก (Elective procedure) และศัลยกรรมที่ซับซ้อนและเฉพาะทาง อาทิการผ่าตัดเปลี่ยนข้อต่อ (Joint replacement) ทั้งเข่าและสะโพก ศัลยกรรมพลาสติก (Cosmetic surgery) ทันตกรรม (Dentistry) และการผ่าตัดหัวใจ (Cardiac surgery)

ผู้มีความผิดปรกติทางพันธุกรรม (Genetic disorders) อาจเดินทางไปยังประเทศอื่นที่เข้าใจการรักษาพยาบาลได้ดีกว่า อย่างไรก็ตาม บริการดูแลสุขภาพอื่นๆ ก็มีให้ ตั้งแต่จิตเวช (Psychiatry) การบำบัดทางเลือก (Alternative treatment) การดูแลพักฟื้น (Convalescent care) จนถึงบริการฝังศพ (Burial service)

มากกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ได้กำหนดให้ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นอุตสาหกรรมระดับชาติ อย่างไรก็ตาม การรับรองมาตฐาน (Accreditation) และมาตรการคุณภาพ ยังมีความแตกต่างกันมากในแต่ละประเทศ และบางแห่งยังมีความเสี่ยงสูง (Hazardous) หรือแม้กระทั่งเป็นอันตรายต่อผู้เดินทางเชิงสุขภาพ (Health or medical tourist)

ในบริบทของสุขภาพทั่วโลก คำว่า “การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ” อาจเป็นที่ดูแคลน (Pejorative) เนื่องจากในการเดินทางเพื่อการดูแลสุขภาพนั้น ผู้ให้บริการอาจปฏิบัติงานเกินขอบเขตของความเชี่ยวชาญ หรือมีการรักษาพยาบาลที่แตกต่าง (กล่าวคือต่ำกว่า) มาตรฐาน

ในปัจจุบัน เริ่มมีจำนวนบุคลากรมากขึ้นในบรรดานักศึกษา [แพทย์] อาสาสมัคร นักวิชาชีพดูแลสุขภาพฝึกหัด (Healthcare professional trainees) และนักวิจัย [สุขภาพ] จากประเทศที่มีทรัพยากรด้านการแพทย์มาก (Resource-rich) ไปทำงานต่างประเทศที่มีทรัพยากรด้านการแพทย์น้อย (Resource-starved) ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

แหล่งข้อมูล:

  1. ททท.จัดงานโชว์ศักยภาพบริการสุขภาพไทย http://www.dailynews.co.th/businesss/154546.[2012, September 16].
  2. Medical tourism. http://en.wikipedia.org/wiki/Medical_tourism [2012, September 16].
  3. Medical Tourism - Getting Medical Care in Another Country. http://www.cdc.gov/Features/MedicalTourism/ [2012, September 16].