ทีบี ในวันนี้ (ตอนที่ 2)

ทีบีในวันนี้

ไม่ใช่ทุกคนที่ติดเชื้อวัณโรคจะต้องป่วย เพราะวัณโรคมี 2 ลักษณะ คือ

1) วัณโรคระยะแฝง (Latent TB infection) และ

2) วัณโรคที่แสดงอาการ (TB disease)

วัณโรคระยะแฝง เป็นเชื้อวัณโรคที่อยู่ในร่างกายแต่ไม่ทำให้ป่วยหรือมีอาการ คนที่เป็นวัณโรคระยะแฝงจะไม่เป็นผู้แพร่เชื้อไปยังผู้อื่น อย่างไรก็ดีหากเชื้อได้มีการแบ่งตัวเพิ่มในร่างกาย คนที่เป็นวัณโรคระยะแฝงก็อาจป่วยเป็นวัณโรคที่แสดงอาการได้

วัณโรคแสดงอาการได้เพราะระบบภูมิต้านทานไม่สามารถหยุดยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของเชื้อในร่างกาย เป็นผลทำให้ป่วยและสามารถแพร่กระจายเชื้อไปยังผู้อื่นได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ อย่างผู้ที่ติดเชื้อเฮชไอวีจะมีความเสี่ยงในการเป็นวัณโรคมากกว่าคนปกติ

อาการของผู้ที่ป่วยเป็นวัณโรคจะขึ้นกับบริเวณที่เชื้อแบคทีเรียเจริญเติบโตในร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเกิดที่บริเวณปอดหรือที่เรียกว่า วัณโรคปอด (Pulmonary TB) โดยแสดงอาการที่สำคัญ เช่น

  • ไออย่างรุนแรงในระยะ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หรือนานกว่านั้น
  • เจ็บหน้าอก
  • ไอปนเลือดหรือไอมีเสมหะ

อาการอย่างอื่น ได้แก่

  • อ่อนเพลียหรือเหนื่อยล้า
  • น้ำหนักลด
  • เบื่ออาหาร
  • หนาวสั่น
  • เป็นไข้
  • เหงื่อออกตอนกลางคืน

แต่หากเป็นวัณโรคในบริเวณอื่นของร่างกาย ก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไป โดยอาการแทรกซ้อนของวัณโรค ได้แก่

  • อาการเจ็บหลังและหลังแข็ง
  • ข้อถูกทำลาย โดยเฉพาะบริเวณสะโพกและเข่า
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis)
  • มีปัญหาในการกรองของเสียของตับหรือไตในกรณีที่ติดเชื้อวัณโรคบริเวณนี้
  • หัวใจผิดปกติ มีภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac tamponade) แต่พบได้น้อย

บางคนอาจเป็นวัณโรคทันที (ภายในไม่กี่สัปดาห์) หลังการติดเชื้อ แต่บางคนอาจจะป่วยหลังการติดเชื้อเป็นปีเมื่อระบบภูมิต้านทานอ่อนแอ

แหล่งข้อมูล

1. Tuberculosis (TB)http://www.cdc.gov/tb/topic/basics/default.htm[2016, March 11].

2. Tuberculosis. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/tuberculosis/home/ovc-20188556[2016, March 11].