ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว (ตอนที่ 4)

ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวมีวัตถุประสงค์เบื้องต้นคือ การลดพัฒนาการของโรคและเพิ่มคุณภาพชีวิต โดยปกติแพทย์จะรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวด้วยการให้ยาหลายชนิดร่วมกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาการ เช่น

  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin-converting enzyme (ACE) inhibitors ซึ่งเป็นยาขยายหลอดเลือดและลดความดันโลหิต ช่วยทำให้เลือดไหลเวียนสะดวก ลดภาระการทำงานของหัวใจ
  • ยาลดความดันโลหิตกลุ่ม Angiotensin II receptor blockers สำหรับผู้ที่ใช้ยากลุ่ม ACE ไม่ได้
  • ยาปิดกั้นเบต้า (Beta blockers) เพื่อช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจและลดความดันโลหิต
  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อลดอาการคั่งของของเหลวในร่างกาย อย่างไรก็ดี เนื่องจากยาขับปัสสาวะทำให้ร่างกายสูญเสียโปตัสเซียมและแมกนีเซียมด้วย ดังนั้นแพทย์อาจสั่งแร่ธาตุเสริมให้เพื่อรักษาสมดุล
  • ยาลดความดันกลุ่ม Aldosterone antagonists
  • ยาเพิ่มการบีบตัวของหัวใจ (Inotropes)
  • ยารักษาโรคหัวใจ (Digoxin) ช่วยเพิ่มแรงบีบตัวของหัวใจ ทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ ผู้ที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ยาลดการอักเสบ NSAID (Nonsteroidal anti-inflammatory drug)
  • ยารักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs) บางชนิด
  • ยาต้านแคลเซียมไม่ให้เข้าสู่หัวใจ (Calcium channel blockers) กรณีที่เป็น Systolic heart failure
  • อาหารเสริมบางชนิด เช่น ยาเพิ่มโกรทฮอร์โมน (Growth hormone) สารทดแทนเกลือ (Salt substitutes)
  • ยาลดกรด (Antacids) ที่มีส่วนผสมของเกลือ
  • ยาลดน้ำมูกหรือยาที่ช่วยลดอาการบวมของเยื่อบุโพรงจมูก (Decongestants)
ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญในการที่จะต้องรู้รายชื่อยาที่กิน และควรปรึกษาแพทย์ทั้งก่อนกินและการเลิกกินยา บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ทำการผ่าตัด เช่น
  • การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary bypass surgery)
  • การผ่าตัดซ่อมหรือเปลี่ยนลิ้นหัวใจ กรณีมีปัญหาเรื่องลิ้นหัวใจรั่วหรือปิดไม่สนิท โดยการทำศัลยกรรมตกแต่งลิ้นหัวใจให้ปิดได้สนิท ซึ่งมีทั้งแบบ Valvuloplasty หรือแบบ Annuloplasty เพื่อไม่ให้เลือดไหลย้อนกลับ

[Valvuloplasty เป็นการซ่อมแซมส่วนที่รั่วของกลีบลิ้น เช่น เย็บเสริมให้กว้างขึ้น หรือทำส่วนที่หย่อนให้แคบลง ส่วน Annuloplasty เป็นการผ่าตัดลิ้นหัวใจรั่วหรือปิดไม่สนิทด้วยการใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายวงแหวนรัดรอบลิ้นหัวใจเพื่อช่วยให้ลิ้นหัวใจปิดได้สนิท]

สำหรับการเปลี่ยนลิ้นหัวใจจะใช้ในกรณีที่ทำการซ่อมไม่ได้ โดยใส่ลิ้นหัวใจเทียม (Prosthetic valve) ซึ่งลิ้นหัวใจเทียมมี 2 ชนิด คือ ลิ้นที่ทำจากโลหะ และลิ้นที่ทำจากเนื้อเยื่อ เช่น คน หมู วัว

แหล่งข้อมูล

  1. Heart Disease and Congestive Heart Failure. http://www.webmd.com/heart-disease/guide-heart-failure [2015, September 28].
  2. Heart failure. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-failure/basics/definition/con-20029801 [2015, September 28].