ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว (ตอนที่ 3)

ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว

นอกจากนี้ยังมีโรคอื่นๆ ที่อาจเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ เช่น

  • โรคอะไมลอยด์โดซิส (Amyloidosis) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากมีโปรตีนที่ผิดปกติ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะไปจับอยู่ตามเนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างๆได้ทั่วร่างกายถ้าไปจับที่ผิวหนัง ก็จะเห็นเป็นเม็ด
  • โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป (Overactive thyroid)
  • ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป (Underactive thyroid)
  • ซาคอยโดซิส (Sarcoidosis) ซึ่งโรคนี้เป็นโรคเกี่ยวกับการติดเชื้อซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดจากอะไร สามารถเกิดขึ้นกับเนื้อเยื้อทุกส่วนของร่างกาย แต่ส่วนมากจะเริ่มจากปอดซึ่งมีระบบการทำงานไม่ปกติ
  • ภาวะโลหิตจางอย่างรุนแรง (Severe anemia)
  • มีธาตุเหล็กในร่างกายมากเกินไป

โดยอาการแทรกซ้อน (Complications) ที่เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว ได้แก่

  • ไตถูกทำลายหรือไตวาย – เพราะหัวใจล้มเหลวทำให้เลือดที่ไหลไปยังไตลดลง
  • มีปัญหาเรื่องลิ้นหัวใจ – เพราะลิ้นหัวใจคอยควบคุมให้การไหลเวียนของเลือดไปในทิศทางที่เหมาะสม หากหัวใจโตหรือมีความดันในหัวใจสูงเพราะหัวใจล้มเหลว ก็อาจทำให้ลิ้นหัวใจมีปัญหาได้
  • หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ
  • ตับถูกทำลาย – เพราะมีของเหลวไปกดทับตับ ทำให้ตับทำงานได้ไม่ดี

การทดสอบและการวิเคราะห์ว่ามีภาวะหัวใจล้มเหลวนั้น แพทย์จะดูจากประวัติโรคที่เป็น เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคเบาหวาน ฯลฯ การฟังเสียงปอด การเต้นของหัวใจ โดยใช้หูฟัง (Stethoscope) การตรวจดูหลอดเลือดบริเวณคอ และการตรวจดูว่ามีการคั่งของของเหลวบริเวณช่องท้องและขาหรือไม่ นอกจากการตรวจทางกายภาพแล้ว แพทย์อาจสั่งให้ใช้วิธีทดสอบดังนี้

  • การตรวจเลือด (Blood test) เพื่อดูสภาพไต ตับ การทำงานของไทรอยด์ ระดับสารเคมีในเลือด (N-terminal pro-B-type natriuretic peptide (NT-proBNP)
  • การเอ็กซเรย์หน้าอก เพื่อดูสภาพปอดและหัวใจ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram = ECG)
  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) ทำให้แพทย์สามารถเห็นขนาดและรูปร่างของหัวใจ การสูบฉีดของหัวใจ ลิ้นหัวใจ หรือความผิดปกติอื่นๆ ของหัวใจอันนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • การทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test) เป็นการทดสอบหัวใจและหลอดเลือดที่ตอบสนองต่อการออกกำลังแรง ด้วยการเดินบนลู่หรือขี่จักรยาน หรือการฉีดสารเข้าเส้นเลือดเพื่อกระตุ้นหัวใจให้มีสภาพเหมือนตอนออกกำลังกาย หรือการสวมหน้ากากเพื่อวัดความสามารถของหัวใจและปอดในการหายใจเอาออกซิเจนเข้าและการหายใจเอาคาร์บอนไดออกไซด์ออก
  • การตรวจซีทีสแกน หรือ เอ็มอาร์ไอ
  • การฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ (Coronary angiogram) เพื่อดูว่าหลอดเลือดตีบหรือไม่
  • การตรวจชิ้นเนื้อจากหัวใจ (Myocardial biopsy)
  • การวัดความสามารถของหัวใจในการบีบเลือดออกจากหัวใจ หรือที่เรียกว่า Ejection fraction (EF)

แหล่งข้อมูล

  1. Heart Disease and Congestive Heart Failure. http://www.webmd.com/heart-disease/guide-heart-failure [2015, September 27].
  2. Heart failure. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-failure/basics/definition/con-20029801 [2015, September 27].
  3. Heart failure - overview. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/000158.htm [2015, September 27].