ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว (ตอนที่ 2)

ทำไมหัวใจต้องล้มเหลว

ภาวะหัวใจล้มเหลวอาจเกิดกับหัวใจห้องล่างซ้าย (Left ventricle) หรือหัวใจห้องล่างขวา (Right ventricle) หรือทั้ง 2 ข้าง แต่โดยทั่วไปมักเริ่มเป็นที่หัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งเป็นห้องหัวใจที่ทำหน้าที่ที่สำคัญในการสูบฉีดโลหิต

ภาวะหัวใจล้มเหลวแบ่งออกได้เป็น

  • หัวใจด้านซ้าย (Left-sided heart failure) ทำให้มีของเหลวอยู่ในปอด เป็นสาเหตุทำให้หายใจลำบาก (Shortness of breath)
  • หัวใจด้านขวา (Right-sided heart failure) ทำให้มีของเหลวอยู่ในช่องท้อง ขา และเท้า เป็นสาเหตุทำให้บวม
  • Systolic heart failure เป็นกรณีที่หัวใจมีปัญหาในการบีบเลือดออก ดังนั้นจึงมีปัญหาเรื่องออกซิเจนในเลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ
  • Diastolic heart failure เป็นกรณีที่หัวใจมีปัญหาในการคลายตัวเพื่อรับเลือดกลับสู่หัวใจ

ภาวะต่อไปนี้สามารถทำลายหรือทำให้หัวใจอ่อนแอลงซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยอาจจะเป็นภาวะที่เราไม่รู้สึกตัวว่ามีปัญหามาก่อนก็ได้

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease) และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (Heart attack) นับเป็นสาเหตุหลักของภาวะหัวใจล้มเหลว เพราะการที่หลอดเลือดตีบหรือมีไขมันอุดตันทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก
  • ความดันโลหิตสูง (Hypertension) ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น ทำให้หัวใจไม่มีแรงหรือไม่ยืดหยุ่นในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย
  • ลิ้นหัวใจไม่สมบูรณ์ (Faulty heart valves) ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
  • กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อม (Cardiomyopathy) ซึ่งอาจเกิดจากพันธุกรรม การติดเชื้อ การเสพสารเสพติด ฯลฯ ล้วนทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น
  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
  • หัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital heart defects)
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Heart arrhythmias) อาจทำให้หัวใจทำงานหนักเพราะเต้นเร็วเกินไป หรืออาจทำให้เลือดไปเลี้ยงร่างกายไม่พอเพราะเต้นช้าเกินไป

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสในการมีภาวะหัวใจล้มเหลวยัง ได้แก่

  • โรคเบาหวาน เพราะโรคเบาหวานทำให้มีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดหัวใจ
  • ยารักษาโรคเบาหวานบางชนิด เช่น ยา Rosiglitazone และยา Pioglitazone
  • ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Sleep apnea)
  • การติดเชื้อไวรัส
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • การสูบบุหรี่
  • โรคอ้วน (Obesity)

แหล่งข้อมูล

  1. Heart Disease and Congestive Heart Failure. http://www.webmd.com/heart-disease/guide-heart-failure [2015, September 26].
  2. Heart failure. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/heart-failure/basics/definition/con-20029801 [2015, September 26].