ทำไมต้องฆ่าตัวตาย ? (ตอนที่ 3)

การเสพสารเสพติด (Substance abuse) เป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 2 ในการฆ่าตัวตายรองจากความผิดปกติทางจิต ซึ่งมีทั้งการติดสารเสพติดเรื้อรังและการที่ได้รับยาเกินขนาดมากๆ (Acute intoxication) และเมื่อรวมกับความเศร้าส่วนตัว เช่น การสูญเสียบุคคลที่รักจากการตาย ความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น

คนส่วนใหญ่มักมีการใช้ยาคลายกังวล (Sedative-hypnotic drugs) เช่น แอลกอฮอล์ หรือ ยานอนหลับ (Benzodiazepines) เมื่อต้องการฆ่าตัวตาย ประเทศที่มีการดื่มแอลกอฮอล์สูงและมีจำนวนผับบาร์ที่มากมักมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงด้วย ร้อยละ 2.2–3.4 ของคนที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังมักตายด้วยการฆ่าตัวตาย คนติดสุราที่พยายามฆ่าตัวตายส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชายที่มีอายุ และในอดีตเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว

คนที่เคยติดโคเคน (Cocaine) และยาบ้า (Methamphetamines) จะมีความสัมพันธ์สูงกับการฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะผู้อยู่ในช่วงที่เลิกเสพ คนที่ใช้สารระเหย (Inhalants) ก็มีโอกาสประมาณร้อยละ 20 ในการฆ่าตัวตาย

นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ก็มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายด้วยเช่นกัน กล่าวคือ การสูบบุหรี่ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพซึ่งมีผลให้คนต้องการจบชีวิตตัวเอง นอกจากนี้ การสูบบุหรี่ยังมีผลต่อสารเคมีในร่างกายซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดความโน้มเอียงในการฆ่าตัวตายอีกด้วย

การติดการพนันก็เป็นปัญหาที่ทำให้มีการฆ่าตัวตายสูง โดยร้อยละ 12-24 ของคนที่เป็นโรคติดการพนัน (Pathological gamblers) พยายามที่จะฆ่าตัวตาย

ปัญหาสุขภาพของร่างกายที่ทำให้เกิดการฆ่าตัวตายนั้น อาจรวมถึง อาการเจ็บปวดเรื้อรัง (Chronic pain) การได้รับบาดเจ็บที่สมอง (Traumatic brain injury) การเป็นโรคมะเร็ง (Cancer) การที่ต้องฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) การติดเชื้อเฮชไอวี (HIV = Human immunodeficiency virus) หรือเป็นโรคเอดส์ การเป็นโรคเอสแอลอี (SLE = Systemic lupus erythematosus) ล้วนเพิ่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายเป็น 2 เท่า

ทั้งนี้ คนที่มีปัญหาสุขภาพมากกว่า 1 อย่าง จะมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงขึ้นไปอีก ซึ่งในญี่ปุ่นปัญหาสุขภาพถือว่าเป็นสาเหตุต้นๆ ในการพิจารณาฆ่าตัวตาย

ปัญหาเรื่องการนอน เช่น อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep apnea) เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคหดหู่ซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย

สภาพทางจิตวิทยาก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เพี่มความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย เช่น ความสิ้นหวัง การสูญเสียความสุขในชีวิต ความซึมเศร้า และความวิตกกังวลเกินกว่าเหตุ (Anxiousness) การไม่สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้ การสูญเสียความสามารถที่เคยมี หรือความรู้สึกที่เกิดกับคนชราว่าตัวเองเป็นภาระของผู้อื่น การสูญเสียคนรักในครอบครัวหรือเพื่อน การตกงาน และความรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง

บางคนฆ่าตัวตายเพื่อหนีจากการถูกข่มเหงรังแก (Bullying) หรือการมีอคติ (Prejudice) การมีประวัติในวัยเด็กว่าถูกกระทำทารุณทางเพศ (Sexual abuse) ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงทั้งสิ้น โดยเฉพาะการถูกกระทำทารุณทางเพศนั้นเชื่อว่าก่อให้เกิดปัจจัยเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 20 ของปัจจัยเสี่ยงทั้งหมด

แหล่งข้อมูล:

  1. Suicide. http://en.wikipedia.org/wiki/Suicide [2013, August 27].