ทำไมต้องฆ่าตัวตาย ? (ตอนที่ 2)

สำหรับสาเหตุการฆ่าตัวตายที่พบมากในภาคเหนือนั้น นพ.วชิระ กล่าวว่า อยู่ระหว่างวิเคราะห์ข้อมูลเชิงระบบ แต่เบื้องต้นคาดว่ามาจาก (1) การดื่มสุรา ทำให้ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ ซึ่งพื้นที่ภาคเหนือมีปัญหาการต้มเหล้าเถื่อนและดื่มเหล้ามาก (2) โรคเรื้อรัง ส่งผลต่อสุขภาพจิตทำให้ร่างกายทรุดโทรม และ (3) อารมณ์อ่อนไหวง่าย จากปัญหาทางจิตใจ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ฯลฯ

นพ.วชิระ กล่าวด้วยว่า พื้นที่ภาคตะวันออกโดยเฉพาะระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม พบมีการฆ่าตัวตายสูงต่อเนื่อง อัตราเกิน 10 คนต่อแสนประชากรเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานหรือระบบการทำงานภายในโรงงาน และถึงแม้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นพื้นที่ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายต่ำ แต่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงเป็นพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง นอกจากนี้ในกรุงเทพฯ ก็ยังพบปัญหาการย้ายถิ่นของแรงงานเช่นกัน

ในปี 2552 การฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการตายอันดับที่ 10 ในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดได้แก่ ลิทัวเนีย ญี่ปุ่น และฮังการี ส่วนประเทศที่มีจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสูงสุดได้แก่ จีนและอินเดีย โดยในจีนถือว่าเป็นอันดับ 5 ของการเสียชีวิต

ในแถบซีกโลกตะวันตก การฆ่าตัวตายในผู้ชายสูงเป็น 3-4 เท่าของผู้หญิง แม้ว่าผู้หญิงจะมีความพยายามฆ่าตัวตายมากกว่า 4 เท่า ทั้งนี้เพราะผู้ชายมักใช้อาวุธในการจบชีวิต ยกเว้นประเทศจีนที่ผู้หญิงมีอัตราการฆ่าตัวตายมากกว่าผู้ชาย (ประมาณ 0.9 เท่า) นอกจากนี้ในเกาหลียังพบอัตราการฆ่าตัวตายในผู้หญิงที่สูงที่สุด กล่าวคือ 22 คนต่อแสนประชากร

ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายรวมถึงปัญหาทางจิตเวช (Psychiatric disorders) การใช้ยาในทางที่ผิด (Drug misuse) วัฒนธรรม (Cultural) สถานะทางครอบครัวและสังคม และพันธุศาสตร์ (Genetics) โดยปัญหาการป่วยทางจิตและการเสพสารเสพติดมักไปด้วยกัน ปัจจัยอื่นได้แก่ การเคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว การมีประวัติคนในครอบครัวที่ฆ่าตัวตาย หรือการได้รับบาดเจ็บทางสมอง (Traumatic brain injury =TBI)

การฆ่าตัวตายมักเกิดในบ้านที่มีการครอบครองอาวุธปืนมากกว่าบ้านที่ไม่มี นอกจากนี้ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น การว่างงาน ความยากจน การไม่มีที่อยู่อาศัย และการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ก็อาจเป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตายได้ด้วย

ร้อยละ 38-55 ของการฆ่าตัวตายมีสาเหตุมาจากพันธุศาสตร์ ทหารผ่านศึกมีความเสี่ยงสูงในการฆ่าตัวตายเพราะมีปัญหาด้านสุขภาพและปัญหาทางจิต ทั้งนี้ ประมาณร้อยละ 15–40 จะมีการเขียนจดหมายลาตาย

ร้อยละ 27-90 ของการตัวตายมีสาเหตุมาจากความผิดปกติทางจิต ประวัติการพยายามฆ่าตัวตายเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ถึงความสำเร็จในการฆ่าตัวตาย โดยประมาณร้อยละ 20 ของการฆ่าตัวตายเป็นคนที่เคยมีประวัติว่าพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว และร้อยละ 1 ของคนที่พยายามฆ่าตัวตายสามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จภายใน 1 ปี และอีกร้อยละ 5 สามารถฆ่าตัวตายได้สำเร็จภายใน 10 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าประมาณร้อยละ 80 ของผู้ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จได้ไปพบจิตแพทย์ภายใน 1 ปีก่อนตาย ร้อยละ 45 ไปพบจิตแพทย์ในเดือนที่ผ่านมา

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง! ภาคเหนือฆ่าตัวตายสูง คาดต้นเหตุเหล้า โรคเรื้อรังhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093156&Keyword=%ca%d8%a2%c0%d2%be [2013, August 26].
  2. Suicide. http://en.wikipedia.org/wiki/Suicide [2013, August 26].