ทำไมต้องฆ่าตัวตาย ? (ตอนที่ 1)

นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวการประชุมวิชาการวิกฤตสุขภาพจิตระดับชาติประจำปี 2556 เรื่อง “อาเซียนร่วมใจฝ่าภัยวิกฤตสุขภาพจิต (Go Through Mental Health Crisis : Strengthen ASEAN Collaboration)" ว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยปี 2555 มีความขัดแย้งที่รุนแรงลดลงในภาพรวม ความเครียดจากการเมืองก็ดีขึ้น แต่ยังมีปัญหาในแง่เศรษฐกิจ การงาน และความอ่อนไหวทางสังคม

ทั้งนี้ สะท้อนได้จากข้อมูลอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จต่อประชากรแสนคนในปี 2555 อยู่ที่ 6.20 คนต่อแสนประชากร หรือประมาณ 3,985 คน ซึ่งมากกว่าปี 2554 ที่พบประมาณ 6.03 คนต่อแสนประชากร อย่างไรก็ตาม ภาพรวมยังอยู่ในเป้าหมายของการลดปัญหาการฆ่าตัวตายต้องไม่เกิน 6.5 คนต่อแสนประชากร

นพ.วชิระ กล่าวว่า สำหรับการเฝ้าระวังรายจังหวัด ยังมีพื้นที่ที่น่าห่วง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ซึ่งบางจังหวัดมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงกว่าปี 2554 กล่าวคือ เกิน 10 คนต่อแสนประชากร ได้แก่

เชียงราย 13.84 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 11.43 คนต่อแสนประชากร เชียงใหม่ 13.33 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 12.90 คนต่อแสนประชากร น่าน 15.09 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 12.17 คนต่อแสนประชากร และแม่ฮ่องสอน 13.92 คนต่อแสนประชากร มากกว่าปี 2554 ที่พบ 9.86 คนต่อแสนประชากร

การฆ่าตัวตาย (Suicide) มักเกิดจากความรู้สึกสิ้นหวังที่บ่อยครั้งมาจากความผิดปกติของจิต (Mental disorder) เช่น ความหดหู่ซึมเศร้า (Depression) โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (Bipolar disorder) โรคจิตเภท (Schizophrenia) โรคพิษสุราเรื้อรัง (Alcoholism) หรือการติดสารเสพติด (Drug abuse)

วิธีการฆ่าตัวตายจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการแขวนคอ การกินยาฆ่าแมลง และการใช้อาวุธปืน ร้อยละ 0.5-1.4 ตายเนื่องจากการฆ่าตัวตาย

จากสถิติในปี 2551-2552 ทั่วโลกพบว่ามีคนฆ่าตัวตายราว 800,000-1,000,000 คน ต่อปี ทำให้การฆ่าตัวตายติดอันดับที่ 10 ของสาเหตุของการตายทั่วโลก โดยมีอัตราการฆ่าตัวตาย 11.6 คนต่อแสนประชากรต่อปี

นับแต่ปี 2503-2555 อัตราการฆ่าตัวตายสูงขึ้นร้อยละ 60 การฆ่าตัวตายมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง กล่าวคือ อัตราการฆ่าตัวตายในผู้ชายสูงเป็น 3-4 เท่าของผู้หญิง มีการประเมินกันว่าในแต่ละปีมีคนพยายามฆ่าตัวตายแต่ไม่สำเร็จเป็นจำนวน 10-20 ล้านคน

อัตราการฆ่าตัวตายจะแตกต่างไปในแต่ละประเทศและแต่ละเวลา เช่น ในปี 2551 อัตราการฆ่าตัวตายในแถบแอฟริกาเท่ากับร้อยละ 0.5 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร้อยละ 1.9 สหรัฐอเมริการ้อยละ 1.2 และยุโรปร้อยละ 1.4 ทั้งนี้หากเทียบเป็นอัตราส่วนต่อประชากรแสนคนแล้ว ออสเตรเลียจะอยู่ที่ 8.6 คน แคนาดา 11.1 คน จีน 12.7 คน อินเดีย 23.2 คน สหรัฐราชอาณาจักร 7.6 และสหรัฐอเมริกา 11.4 คน

แหล่งข้อมูล:

  1. อึ้ง! ภาคเหนือฆ่าตัวตายสูง คาดต้นเหตุเหล้า โรคเรื้อรังhttp://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000093156&Keyword=%ca%d8%a2%c0%d2%be [2013, August 1].
  2. Suicide. http://en.wikipedia.org/wiki/Suicide [2013, August 25].