ทำไมจึงเรียกไข้เหลือง ? (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ทำไมจึงเรียกไข้เหลือง

ในส่วนของการวินิจฉัยโรคไข้เหลือง ในระยะแรกอาจทำได้ยากเล็กน้อย เพราะอาจสับสนกับโรคมาลาเรีย โรคไทฟอยด์ ไข้เดงกี่ และไข้เลือดออกจากไวรัส (Viral hemorrhagic fevers) อื่นๆ โดยแพทย์อาจสอบถามถึงอาการและประวัติการเดินทาง ทั้งเก็บตัวอย่างเลือดไปทดสอบ

หลังจากที่พบว่ามีการติดเชื้อไข้เหลือง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยพักให้ห่างจากยุง เพื่อป้องกันยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อต่อให้ผู้อื่น ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อไข้เหลืองจะมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิต

ปัจจุบันยังไม่มียารักษาไข้เหลืองโดยตรง การรักษาเบื้องต้นเป็นการรักษาตามอาการ (Supportive care) อย่างการให้สารเหลวและออกซิเจน การรักษาระดับความดันโลหิต การให้เลือด การฟอกไต การรักษาอาการติดเชื้ออื่นๆ และการให้ยาลดไข้แก้ปวด อย่างไรก็ดี ห้ามให้ยาแอสไพรินและยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory drugs = NSAID) เช่น ยา Ibuprofen ยา Naproxen เพราะอาจทำให้เลือดออกภายในหรือตกเลือดได้

การป้องกันไข้เหลืองทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน ซึ่งถือว่าปลอดภัยสำหรับผู้ที่อายุตั้งแต่ 9 เดือน – 60 ปี โดยสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างน้อย 10 ปี แต่อาจมีผลข้างเคียงแบบอ่อนประมาณ 5-10 วัน ซึ่งได้แก่ อาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย และปวดบริเวณที่ฉีด

อย่างไรก็ดี ในเด็กทารกและผู้สูงอายุ อาจเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงกว่า เช่น มีอาการเหมือนไข้เหลืองจริง สมองอักเสบ (Encephalitis) หรือเสียชีวิต ดังนั้น จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อน โดยเฉพาะบุคคลดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานอ่อนแอ (Immunocompromised) เช่น ผู้ติดเชื้อเฮชไอวี
  • ผู้ที่เป็นมะเร็งหรือมีปัญหาเรื่องต่อมไทมัส (Thymus gland)
  • ผู้ที่อยู่ระหว่างการรักษาตัวที่มีผลต่อระบบภูมิต้านทาน เช่น มีการใช้สเตียรอยด์ หรือ อยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
  • ผู้ที่มีการปลูกถ่ายอวัยวะ (Transplantation)
  • ผู้ที่เคยมีปฏิกริยาแพ้ต่อ (Allergic reaction) ไข่ ไก่ เจลาติน หรือวัคซีนป้องกันไข้เหลือง
  • หญิงตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร
  • ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี
  • เด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 9 เดือน

นอกจากการฉีดวัคซีนแล้ว เรายังสามารถป้องกันตัวเองได้จากไข้เหลืองได้ด้วยการไม่ให้ยุงกัด โดย

  • การหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงเวลาที่ยุงชุม
  • ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ถุงเท้า เมื่อต้องอยู่ในที่ที่มียุง
  • อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด
  • ใช้ยากันยุง (ด้วยความระมัดระวังถึงความเป็นพิษ)

แหล่งข้อมูล

1. Yellow fever. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yellow-fever/basics/definition/con-20032263 [2016, March 23].

2. Yellow fever. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/yellow-fever-symptoms-treatment [2016, March 23].

3. Yellow fever. http://www.webmd.com/a-to-z-guides/yellow-fever-symptoms-treatment [2016, March 23].