ทำไมจึงเรียกไข้เหลือง ? (ตอนที่ 1)

ทำไมจึงเรียกไข้เหลือง

มาเตอุส กัมโปส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็กในกรุงลูอันดา ประเทศอังโกลา ระบุว่า เฉพาะวันจันทร์ที่ 14 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาเพียงวันเดียว มีเด็กเสียชีวิตเพราะไข้เหลืองมากถึง 27 ราย และในแต่ละวันมีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้อไข้เหลืองเดินทางมารับการตรวจรักษากว่า 900 ราย ซึ่งเกินกว่าที่ทรัพยากรบุคคลของทางโรงพยาบาลจะรับมือไหว

ด้าน อเดไลเด เด คาร์วัลโญ โฆษกหญิงของกระทรวงสาธารณสุขอังโกลา ออกมายอมรับผ่านสำนักข่าวเอเอฟพีว่า ทางกระทรวงฯ ได้ขึ้นทะเบียนผู้ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไข้เหลืองไปแล้ว 76 ราย เฉพาะในเดือนมีนาคมนี้ และมีผู้เสียชีวิตต่อเนื่องกันถึง 10 ราย ภายในช่วงเวลาเพียง 3 วัน เมื่อช่วงต้นเดือน แต่มิได้เปิดเผยยอดรวมทั้งหมดของผู้เสียชีวิต

โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วทางองค์การอนามัยโลก (World Health Organisation = WHO) ได้ระบุว่า ยอดผู้เสียชีวิตจากไข้เหลืองในอังโกลาล่าสุดอยู่ที่อย่างน้อย 250 ราย แต่แพทย์บางรายเชื่อว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไข้เหลืองในประเทศนี้ รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงอาจย่ำแย่เลวร้ายกว่านี้

อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้ยังไม่มีหนทางรักษาไข้เหลืองที่มียุงเป็นพาหะแบบเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด และเชื้อไวรัสมรณะชนิดนี้ก็เคยพบการแพร่ระบาดในพื้นที่เขตร้อนของโลกทั้งในทวีปแอฟริกาและแถบป่าแอมะซอนของทวีปอเมริกาใต้

รายงานข่าวระบุด้วยว่า พื้นที่กรุงลูอันดาที่เป็นเมืองหลวงของอังโกลา คือ พื้นที่ซึ่งพบการแพร่ระบาดของไข้เหลืองในระดับที่หนักหน่วงที่สุด โดยที่สัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากไข้เหลืองในอังโกลานั้น ปรากฏว่าในทุก 10 รายจะเป็นผู้เสียชีวิตที่อาศัยในกรุงลูอันดาถึง 9 ราย

ทั้งนี้ ในแต่ละปีทางองค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่าจะมีผู้ติดเชื้อไข้เหลืองราว 130,000 ราย และทำให้มีผู้เสียชีวิตราว 44,000 รายต่อปี โดยที่ประมาณร้อยละ 90 ของผู้ตกเป็นเหยื่อของไวรัสไข้เหลืองอาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา

ไข้เหลือง (Yellow fever) มีชื่อเรียกตามลักษณะที่เป็น กล่าวคือ ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีผิวและตาเป็นสีเหลือง เกิดจากเชื้อไวรัสที่แพร่กระจายโดยยุงลายหรือที่เรียกว่า Aedes aegypti mosquito มักพบในแอฟริกาและอเมริกาใต้

มนุษย์และลิงเป็นสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสไข้เหลืองมากที่สุด โดยยุงจะทำการแพร่เชื้อไวรัสไปมาระหว่างมนุษย์และลิง หรือทั้งคู่ เมื่อยุงกัดมนุษย์หรือลิงที่มีเชื้อไข้เหลือง เชื้อจะเข้าไหลเวียนเข้าไปอยู่ในกระแสเลือดของยุงก่อนที่จะไปอยู่ในต่อมน้ำลาย ดังนั้นเมื่อยุงไปกัดลิงหรือมนุษย์ เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดการติดเชื้อ

ในรายที่มีอาการอย่างอ่อนจะมีอาการเป็นไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียน ส่วนในรายที่รุนแรงจะทำให้หัวใจ ตับ และไตวายได้ พร้อมกับอาการตกเลือด (Hemorrhaging) โดยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงมักจะเสียชีวิต

แหล่งข้อมูล

1. ยอดเหยื่อไข้เหลืองระบาดหนักในอังโกลา พุ่งอย่างน้อย 250 ศพ. http://manager.co.th/Around/ViewNews.aspx?NewsID=9590000027412&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, March 21].

2. Yellow fever. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/yellow-fever/basics/definition/con-20032263 [2016, March 21].