ทำไมจึงด่างขาว ? (ตอนที่ 4)

ทำไมจึงด่างขาว

วิธีการรักษา (ต่อ)

  • ยาที่กระทบต่อระบบภูมิต้านทานอย่างขี้ผึ้งที่มีตัวยา Tacrolimus หรือ Pimecrolimus อาจจะใช้ได้ดีกับคนที่โรคด่างขาวบริเวณเล็กน้อย โดยเฉพาะที่หน้าและคอ มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาสเตียรอยด์ชนิดทาภายนอก และสามารถใช้ร่วมกับแสงแสงอัลตราไวโอเล็ต อย่างไรก็ดี องค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration = FDA) ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของยานี้กับการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) และมะเร็งผิวหนัง
  • การใช้ยาร่วมกันกับการรักษาด้วยแสง (Light therapy) มักใช้ร่วมกับสารซอราเลน (Psoralen) เพื่อให้สีผิวคืนกลับ โดยหลังจากที่กินยาหรือทายาที่มีสารดังกล่าวตรงบริเวณที่เป็น จะตามด้วยการฉายด้วยแสงอัลตราไวโอเล็ต (UVA or UVB)

เนื่องจากยาจะทำให้ผิวไวต่อแสง ผิวจะกลายเป็นสีชมพูและกลายเป็นสีผิวปกติ ซึ่งอาจต้องใช้การรักษาเป็นจำนวน 3 ครั้งต่อสัปดาห์ นานเป็นเวลา 6-12 เดือน

สำหรับผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่ การที่ผิวไหม้แดดอย่างรุนแรง (Severe sunburn) เป็นแผลพุพอง (Blistering) คัน ผิวสีเข้มเกิน และเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นต้อกระจก (Cataracts) และมะเร็งผิวหนัง

ดังนั้นหลังการรักษาจึงควรทาครีมกันแดด (Sunscreen) ใส่แว่นตาป้องกันแสงยูวี และเลี่ยงการถูกแสงแดดโดยตรง ทั้งนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ยากินที่มีสารซอราเลนและรังสี UVA กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี

  • การรักษาด้วยแสง (Light therapy) ใช้กับแสง UVB คลื่นความถี่แคบ อาจได้รับการรักษาสัปดาห์ละ 3 ครั้ง โดยไม่ต้องใช้ยาที่มีสารซอราเลน ใช้ได้ดีกับบริเวณหน้า ลำตัว และแขนขา
  • การรักษาด้วยเลเซอร์ (Laser therapy) โดยใช้เครื่องเอ็กไซเมอร์เลเซอร์ (Excimer Laser) มักใช้ร่วมกับยา แต่มีผลข้างเคียงคือ ผิวแดงและเป็นแผลพอง
  • วิธีฟอกสีผิว (Depigmentation) ใช้เมื่อการรักษาด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล และแนะนำให้ใช้กับคนที่มีด่างขาวเกินร้อยละ 50 ของผิวหนังทั่วร่างกาย โดยใช้ยา Monobenzone ทาบริเวณที่ไม่ได้เป็นด่างขาว ซึ่งจะทำให้ผิวค่อยๆ สีจางลงเหมือนบริเวณที่เป็นด่างขาว วิธีรักษานี้ทำวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 9 เดือน

ทั้งนี้ ต้องหลีกเลี่ยงการสัมผัสระหว่างผิวกับผู้อื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมงหลังการทายา เพื่อไม่ให้ยาไปติดผู้อื่น และมีผลข้างเคียงคือ ผิวจะแดง บวม คัน แห้ง และการฟอกสีผิวเป็นการทำที่ถาวรซึ่งทำให้เกิดความไวต่อแสงแดดอย่างมาก

  1. Vitiligo. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/vitiligo/basics/definition/con-20032007 [2015, July 9].
  2. Vitiligo. http://www.niams.nih.gov/health_info/vitiligo/vitiligo_ff.asp [2015, July 9].
  3. Vitiligo. http://www.niams.nih.gov/health_info/vitiligo/ [2015, July 9].