ทำไมจึงด่างขาว ? (ตอนที่ 1)

ทำไมจึงด่างขาว

ผิวตรงส่วนที่เป็นสีขาวๆ ที่เกิดขึ้นได้ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ที่เรียกว่า “ด่างขาว” ซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สวยงามในการมอง แต่ก็ไม่ได้เป็นโรคที่สามารถติดต่อกันได้

ผศ.นพ.วาสนภ วชิรมน แผนกผิวหนัง ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงโรค “ด่างขาว” ว่า เป็นโรคผิวหนังที่กลายเป็นสีขาว รูปแบบรอยโรคจะเริ่มจากสีผิวที่จางลง โดยหากปล่อยทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นสีขาวเหมือนชอล์ก

ผศ.นพ.วาสนภ กล่าวต่อว่า โรคด่างขาวเกิดจากการที่เซลล์เม็ดสีถูกทำลายโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งโรคด่างขาวไม่สามารถติดต่อกันได้ด้วยการสัมผัส และสามารถพบว่าเริ่มเป็นได้ตั้งแต่เด็กไปจนถึงผู้สูงวัย นอกจากนี้ ยังสามารถพบผู้ป่วยในรายที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นได้เหมือนกัน ซึ่งเชื่อว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม

โรคด่างขาวสามารถพบได้ทั้ง 2 ข้างของร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณรอบตา รอบปาก รอบจมูก ปลายมือ ปลายเท้า ศอก เข่า และหลัง หากอาการเป็นมากจะลามไปส่วนอื่นของร่างกายหรือเป็นทั่วร่างกายได้ บางรายอาจพบเพียงซีกเดียวของร่างกาย เช่น บนหน้าผาก แก้ม ปาก ไหล่ อก ท้อง เป็นต้น

โรคนี้เป็นภัยเงียบที่มักไม่มีอาการเจ็บ แสบ หรือคัน มีแต่เพียงการเปลี่ยนแปลงของสีผิว ซึ่งกว่าผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ ต้องรอให้สีผิวเป็นสีขาวก่อน ไม่มีอาการเริ่มต้นใด ๆ บ่งบอก บางรายเริ่มเป็นที่ปลายมือปลายเท้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เราไม่ค่อยจะสนใจดูสักเท่าไรนัก กว่าจะมารู้ตัวก็ตอนที่เม็ดสีถูกทำลายไปมากแล้ว

บางรายเห็นว่าเริ่มเป็นแต่ไม่เดือดร้อนเพราะไม่มีอาการแสดงใด ๆ แต่วันหนึ่งโรคเกิดลามขึ้นมา จึงคิดเริ่มรักษา นั่นจะทำให้การรักษายากมากขึ้น บางรายอาจมีอาการคันนำมาก่อนที่จะเริ่มเป็น

ผศ.นพ.วาสนภ ชี้แจงว่า โรคด่างขาวไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิต แต่ก่อให้เกิดความไม่มั่นใจในการเข้าสังคมได้ เนื่องจากผู้ที่ไม่รู้จักโรคนี้อาจเข้าใจผิดว่าเป็นโรคติดต่อ เช่น กลาก เกลื้อน เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ บางรายต้องพึ่งเครื่องสำอางเพื่อพรางรอยขาว บางรายเป็นที่หน้าผาก ทำให้ต้องเปลี่ยนทรงผมเพื่อใช้ผมปกปิด บางรายเป็นที่แขนกลายเป็นต้องใส่เสื้อแขนยาวเพื่อปกปิดตลอด ทำให้คุณภาพชีวิตไม่ดีเพราะต้องคอยปกปิดไม่ให้สังคมรับรู้

ผู้ป่วยบางรายอาจพบโรคด่างขาวร่วมกับความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ด้วยได้ หากตรวจพบว่าเป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ก็ควรต้องรักษาไปด้วยกัน การดำเนินโรคของด่างขาวในผู้ป่วยแต่ละรายนั้นไม่แน่นอน บางรายอาจลามเร็วในช่วงแรกและคงอยู่ในลักษณะนั้นไปตลอด แต่ในผู้ป่วยบางราย ตัวโรคจะค่อยๆ พัฒนาไปอย่างช้าๆ จนวันหนึ่งเกิดลามขึ้นมาอย่างรวดเร็ว

สำหรับการรักษาโรคด่าง ผศ.นพ.วาสนภ กล่าวว่า ขาวสามารถรักษาได้ด้วยยาและการฉายแสง ซึ่งการฉายแสงที่ว่าคือการฉายแสงอาทิตย์เทียมเพื่อรักษาโรคผิวหนัง ไม่ใช่การฉายรังสีเหมือนที่รักษาโรคมะเร็ง จึงไม่มีผลข้างเคียงเหมือนการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็ง แสงอาทิตย์เทียมจะมีกลไกลดการทำลายเซลล์เม็ดสีและกระตุ้นเซลล์เม็ดสีที่เหลืออยู่ให้เพิ่มจำนวนและกลับมาสร้างเม็ดสีได้เหมือนเดิม

นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดสี ซึ่งจะทำได้ก็ต่อเมื่อร่างกายไม่ตอบสนองต่อการรักษาโดยการใช้ยาและการฉายแสง และตัวโรคต้องไม่ลุกลามแล้วด้วย ดังนั้นจึงควรรีบรักษาก่อนที่เซลล์เม็ดสีจะถูกทำลาย

  1. โรคด่างขาว อย่าปล่อยให้สายเกินแก้. http://www.dailynews.co.th/article/329267 [2015, July 6].