ทำร้ายตัวเองไปทำไม ? (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ทำร้ายตัวเองไปทำไม-3

ยังไม่มีการรักษาที่ดีที่สุดสำหรับการทำร้ายตัวเอง การรักษาขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี ซึ่งต้องใช้เวลานาน และความตั้งใจของผู้ป่วยที่ต้องการจะรักษาด้วย

หากการทำร้ายตัวเองเกี่ยวเนื่องกับความผิดปกติของจิต เช่น โรคหดหู่ซึมเศร้า หรือความผิดปกติทางบุคลิกภาพแบบก้ำกึ่ง (Borderline personality disorder) การรักษาจะเน้นไปรักษาความผิดปกตินั้นด้วย โดย

    จิตบำบัด (Psychotherapy) สามารถช่วย
    • ระบุและจัดการกับประเด็นที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทำร้ายตัวเอง
    • เรียนรู้ที่จะหาทางจัดการกับความหดหู่ซึมเศร้า
    • เรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์
    • เรียนรู้ที่จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนเอง (Self-image)
    • พัฒนาทักษะในการปรับปรุงความสัมพันธ์และทักษะทางสังคม (Social skills)
    • พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา

    ทั้งนี้ มีจิตบำบัดหลายชนิดที่สามารถนำไปใช้ได้ เช่น

    • การบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy = CBT) เพื่อให้มีความคิดและพฤติกรรมบวกมากขึ้น
    • พฤติกรรมบำบัดวิภาษวิธี (Dialectical behavior therapy) เป็นหนึ่งในวิธีของ CBT ที่สอนให้ปรับพฤติกรรมเพื่อให้รู้จักจัดการกับอารมณ์ ความหดหู่ซึมเศร้า และพัฒนาความสัมพันธ์กับผู้อื่น
    • จิตบำบัดแบบจิตพลวัต (Psychodynamic psychotherapy) ที่เน้นเรื่องการจัดการกับอดีต ความทรงจำที่ซ้อนไว้ หรือรากเหง้าของอารมณ์
    • การบำบัดโดยใช้แนวคิดเรื่องสติ (Mindfulness-based therapies) ที่สอนให้อยู่กับปัจจุบัน การรับรู้ความคิดหรือการกระทำที่อยู่รอบตัวเพื่อลดความวิตกกังวลหรือความหดหู่ซึมเศร้า และช่วยปรับปรุงการใช้ชีวิตทั่วไปให้ดี
      • การใช้ยา – ยังไม่มียาตัวใดที่ใช้รักษาการทำร้ายตัวเอง แต่หากมีอาการทางจิตร่วมด้วย เช่น วิตกกังวลหรือหดหู่ซึมเศร้า แพทย์ก็อาจสั่งยาต้านซึมเศร้า (Antidepressants) หรือยาตัวอื่นที่ช่วยรักษาอาการผิดปกติที่ร่วมกับการทำร้ายตัวเอง
      • การรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช (Psychiatric hospitalization) – กรณีที่มีการทำร้ายตัวเองรุนแรงหรือบ่อยครั้ง แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจิตเวชในช่วงสั้นๆ เพื่อให้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ จนกว่าจะผ่านช่วงวิกฤตินี้ไปได้

      นอกจากการรักษากับแพทย์แล้ว ผู้ป่วยสามารถดูแลตัวเองได้ดังนี้

      • ติดต่อกับผู้อื่นที่สามารถช่วยเหลือได้และทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เช่น คนในครอบครัว เพื่อนๆ
      • คิดในแง่บวก หาวิธีผ่อนคลาย เช่น ออกกำลังกาย เต้นรำ หรือฟังดนตรี

      แหล่งข้อมูล:

      1. Self-injury/cutting. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/self-injury/home/ovc-20165425 [2017, May 31].