ทำร้ายตัวเองไปทำไม ? (ตอนที่ 1)

ทำร้ายตัวเองไปทำไม-1

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ได้อ่านข่าวว่า มีเหตุทำร้ายร่างกายตัวเองได้รับบาดเจ็บ โดยที่เกิดเหตุพบผู้บาดเจ็บ ได้รับบาดเจ็บที่ข้อมือข้างซ้าย มีบาดแผลฉีดขาด เลือดไหลนองพื้น อยู่ในอาการร้องไห้ฟูมฟาย ข้างตัวพบกรรไกรเปื้อนเลือดตกอยู่ ซึ่งเจ้าหน้าที่กู้ภัยได้ให้การช่วยเหลือปฐมพยาบาลเบื้องต้น ก่อนเคลื่อนย้ายส่งโรงพยาบาล

ทั้งนี้ข่าวยังระบุอีกว่า เหตุการณ์ดังกล่าวผู้ได้รับบาดเจ็บได้ทำการถ่ายทอดสดการพยายามทำร้ายตัวเองลงบนสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยคลิปดังกล่าวเผยให้เห็นหญิงสาวอยู่ในอาการร้องไห้ฟูมฟาย พูดตัดพ้อต่างๆ นานา ก่อนจะคว้ากรรไกรกรีดข้อมือข้างซ้ายจนได้รับบาดเจ็บเลือดไหลนอง

หลังจากนั้นจึงออกปากขอความช่วยเหลือว่า ถูกขังอยู่ในห้องให้คนมาช่วยเปิดประตูให้ ท่ามกลางผู้ชมที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นและห้ามปรามจำนวนหนึ่ง ก่อนที่หญิงสาวจะลงไปนอนกับพื้น สร้างความน่าสลดใจและหวาดเสียวกับผู้ที่เห็นเป็นอย่างยิ่ง

การทำร้ายตัวเอง (Self-injury / Self-Harm / Self-Mutilation) เป็นการทำร้ายร่างกายตัวเองโดยเจตนา เช่น การกรีดข้อมือ การข่วนตัวเอง การเผาตัวเอง ฯลฯ แต่ไม่ได้มีความตั้งใจที่จะฆ่าตัวตาย อย่างไรก็ดี ด้วยบาดแผลที่รุนแรงก็อาจทำให้เสียชีวิตได้โดยไม่ตั้งใจ และหากมีการทำร้ายตัวเองอยู่บ่อยๆ ก็มีโอกาสที่จะทำการฆ่าตัวตายโดยเจตนามากขึ้น ทั้งนี้ มากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ที่ฆ่าตัวตาย จะมีประวัติในการทำร้ายตัวเองมาก่อน

การทำร้ายตัวเองมักเกิดในวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นผู้ที่ไม่รู้วิธีในการจัดการกับปัญหา หรือต้องการปลดปลอยตัวเองจากบางสิ่งบางอย่าง บางคนอาจทำร้ายตัวเองบางครั้งบางคราว ในขณะที่บางคนอาจทำซ้ำแล้วซ้ำอีกเป็นเวลานาน โดยมีอาการและสัญญาณของการทำร้ายตัวเอง เช่น

  • มีแผลเป็น (Scars)
  • มีแผลสดจากการกรีด ข่วน หรือรอยฟกช้ำ
  • ถือของมีคมในมือ
  • ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แม้อาการจะร้อน ทั้งนี้เพื่อปกปิดบาดแผล
  • พร่ำถามตัวเองว่า “ฉันเป็นใคร ?” “ฉันกำลังทำอะไรที่นี่ ?”
  • มีอารมณ์และพฤติกรรมที่แปรปรวน คาดการณ์ไม่ได้
  • มีคำพูดเกี่ยวกับความรู้สึกหมดหนทางช่วยเหลือ ความสิ้นหวัง หรือการไร้ค่า
  • ซึมเศร้าหดหู่
  • ตำหนิตัวเอง รังเกียจตัวเอง และแสดงความต้องการที่จะลงโทษตัวเอง
  • แยกตัวเองและไม่พูดกับใคร

โดยรูปแบบของการทำร้ายตัวเอง มักปรากฏบนผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณแขน ขา และลำตัวด้านหน้า เช่น

  • มีการกรีด ตัด (Cutting)
  • มีการข่วน (Scratching)
  • มีการเผา
  • แกะสลักคำหรือสัญญลักษณ์บนผิวหนัง

แหล่งข้อมูล:

  1. Self-injury/cutting. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/self-injury/home/ovc-20165425 [2017, May 29].
  2. Self-harm. http://www.nhs.uk/Conditions/legcrampsunknowncause/Pages/Introduction.aspx [2017, May 29].
  3. Self-harm. https://www.nami.org/Learn-More/Mental-Health-Conditions/Related-Conditions/Self-harm [2017, May 29].