ทำงานเป็นกะ ทำนาฬิกาชีวิตงง (ตอนที่ 2)

มีผลการวิจัยหลายฉบับที่แนะนำเกี่ยวกับความเสี่ยงจากการทำงานเป็นกะ เช่น ในปี พ.ศ. 2550 สถาบัน IARC (International Agency for Research on Cancer) ระบุว่าโรคมะเร็งมีความสัมพันธ์กับการทำงานเป็นกะ ส่วนผลงานวิจัยอื่นก็รายงานว่าคนที่ทำงานกลางคืนมีโอกาสเป็นโรคหัวใจ ระบบย่อยอาหารที่ผิดปกติ และมีรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ดีเนื่องจากไม่มีการวิเคราะห์อย่างเป็นทางการในงานวิจัยเหล่านี้ จึงยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าความเสี่ยงของการเกิดนี้เป็นได้กับคนทำงานเป็นกะบางกลุ่มหรือใช้ได้กับคนทำงานเป็นกะทั้งหมด

มีผู้ทำงานกลางคืนหลายคนที่งีบหลับระหว่างพัก ถ้าเป็นไปได้การงีบหลับก่อนทำงานกลางคืนเป็นการช่วยได้ทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี การงีบหลับเป็นเวลานานมากกว่า 20-30 นาที อาจทำให้เกิดภาวะตื่นไม่เต็ม (Sleep inertia) หรือเบลอๆ ซึ่งสามารถทำให้สมรรถภาพการทำงานลดลง ดังนั้นการงีบเล็กน้อยประมาณ 10 - 30 นาที น่าจะดีกว่าการงีบที่นานกว่า 30 นาที นอกจากนี้การงีบที่นานเกินไปอาจมีผลกระทบต่อเวลานอนจริงได้

ในการวิเคราะห์โรคนอนไม่หลับ แพทย์จะให้ทำการจดบันทึกการนอนในแต่ละวัน (Sleep diary) เป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์ เพื่อดูว่าคนไข้มีปัญหาความผิดปกติด้านการนอนอันเนื่องมาจากการทำงานเป็นกะหรือไม่ แพทย์จะสอบถามถึงชั่วโมงการทำงาน เวลานอน ชั่วโมงนอน ความรู้สึกเมื่อตื่นขึ้น และอาการง่วงนอนระหว่างการทำงาน นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจวินิจฉัยการนอนหลับ (Sleep studies) ในห้องทดสอบการนอนหลบ (Sleep lab) ด้วย

หากมีปัญหาเรื่องความผิดปกติด้านการนอนอันเนื่องมาจากการทำงานเป็นกะ แพทย์อาจให้ทำการทดสอบโดยใช้อุปกรณ์ (Actigraphy) ซึ่งเป็นลักษณะเหมือนนาฬิกาข้อมือ โดยอุปกรณ์นี้จะวัดความเคลื่อนไหวตลอดวันและคืน ทำให้แพทย์ทราบได้ว่าเวลาไหนที่คนไข้หลับและเวลาไหนที่คนไข้ตื่น

การทำงานเป็นกะสามารถเพิ่มความเครียดและทำให้ป่วยได้ การอดนอนจากการทำงานเป็นกะสามารถเพิ่มโอกาสของการเกิดอุบัติเหตุในขณะขับรถหรือขณะทำงานได้ ทั้งยังทำให้ขาดสมาธิในการทำงานและได้ผลงานที่แย่ลงนอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญยังพบว่าคนที่ทำงานเป็นกะมีโอกาสสูงในการเกิดปัญหาสุขภาพมากกว่าคนทำงานปกติ ซึ่งรวมถึง

  • มีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากขึ้น เช่น ไข้หวัด
  • มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมและมะเร็งต่อมลูกหมากมากขึ้น
  • มีระดับคลอเรสเตอรอลที่สูง
  • มีความเสี่ยงในการเกิดอาการหัวใจวาย (Heart attack) มากขึ้น
  • มีความเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วน (Obesity) มากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่าทำไมการนอนหลับที่ผิดปกติจึงเพิ่มความเสี่ยงในการมีปัญหาสุขภาพ แต่มีความสงสัยว่าอาจเป็นเพราะร่างกายมีการสร้างเมลาโทนิน (Melatonin) ที่น้อยกว่าจำนวนที่ร่างกายต้องการหากมีการทำงานในตอนกลางคืน [เมลาโทนิน เป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมวัฎจักรของการนอนและการตื่น ทั้งยังช่วยให้มีสุขภาพดีด้วยการสร้างระบบภูมคุ้มกัน (Immune system) ให้แข็งแรงและป้องกันการเจริญเติบโตของเนื้องอก]

แหล่งข้อมูล:

  1. Shift work sleep disorder. - http://en.wikipedia.org/wiki/Shift_work_sleep_disorder [2013, June 3].
  2. Topic Overview. - http://www.webmd.com/sleep-disorders/guide/shift-work-sleep-disorder-topic-overview [2013, June 3].