ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ (ตอนที่ 5)

ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ-5

การทดสอบและการวินิจฉัยโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ สามารถทำได้ด้วย

  • การวิเคราะห์ตัวอย่างปัสสาวะ – เพื่อหาเซลล์เม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง หรือแบคทีเรีย (ควรเก็บปัสสาวะช่วงกลางของการถ่ายปัสสาวะเพื่อหลีกเลี่ยงเชื้อที่ติดอยู่ผิวหนังเมื่อเริ่มปัสสาวะ)
  • การเพาะเชื้อปัสสาวะ – เพื่อหาว่าติดเชื้ออะไรและควรใช้ยาชนิดไหนเพื่อให้ได้ผลที่สุด
  • การตรวจอัลตราซาวด์ ซีทีสแกน เอ็มอาร์ไอ – เพื่อดูความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะจากภาพ
  • การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ (Cystoscopy) – เพื่อดูภายในของท่อปัสสาวะและกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะควรทำให้เร็วที่สุด เพราะหากไม่ทำการรักษาจะยิ่งเพิ่มความรุนแรงในการแพร่กระจายของเชื้อ

โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุ ซึ่งส่วนใหญ่ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียจะรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ส่วนกรณีที่เกิดจากเชื้อไวรัส (Viruses) หรือเชื้อรา (Fung)i จะรักษาด้วยยาต้านเชื้อไวรัส (Antivirals) และยาต้านเชื้อรา (Antifungals)

ในกรณีของเชื้อแบคทีเรีย หากเป็นการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนล่างมักจะใช้วิธีการกินยา (Oral antibiotics) ในขณะที่การติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะส่วนบนจะใช้วิธีการให้ยาทางหลอดเลือด (Intravenous antibiotics)

ชนิดของยาปฏิชีวนะและระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ จะขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อแบคทีเรียที่พบในปัสสาวะ ซึ่งยาที่ใช้รักษาโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะทั่วๆ ไป จะได้แก่

  • Trimethoprim/sulfamethoxazole
  • Fosfomycin
  • Nitrofurantoin
  • Cephalexin
  • Ceftriaxone

ส่วนกลุ่มของยาปฏิชีวนะที่รู้จักกันในนาม “กลุ่มยาฟลูออโรควิโนโลน” (Fluoroquinolones) เช่น ยา Ciprofloxacin ยา Levofloxacin ฯลฯ จะไม่แนะนำให้ใช้ในโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะธรรมดา เนื่องจากมีความเสี่ยงจากการใช้ยามากกว่าประโยชน์ที่ได้จากการรักษา ในบางกรณีที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ยุ่งยากหรือติดเชื้อที่ไต แพทย์อาจจ่ายยาฟลูออโรควิโนโลนให้หากไม่มีทางเลือกอื่นในการรักษา

อาการมักจะหายใน 2-3 วัน หลังการรักษา แต่ยังคงต้องกินยาปฏิชีวนะให้ครบโดสต่อไป กรณีที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะที่ไม่ยุ่งยาก แพทย์อาจให้กินยาปฏิชีวนะเพียง 1-3 วัน นอกจากนี้ แพทย์อาจจ่ายกลุ่มยาแก้ปวด (Analgesic) ที่ทำให้กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะชา จะได้ไม่รู้สึกปวดแสบปวดร้อนมากขณะปัสสาวะ

แหล่งข้อมูล:

  1. Urinary tract infection (UTI). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/urinary-tract-infection/symptoms-causes/dxc-20344304 [2017, November 15].
  2. Everything You Need to Know About Urinary Tract Infection. https://www.healthline.com/health/urinary-tract-infection-adults#what-is-it1 [2017, November 15].