ทางเดินน้ำดีตีบตัน (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ทางเดินน้ำดีตีบตัน

สำหรับการรักษาโรคทางเดินน้ำดีตีบตันสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดที่เรียกว่า Kasai procedure หรือการปลูกถ่ายตับ (Liver transplant) โดย

  • การผ่าตัดต่อท่อน้ำดีกับลำไส้แบบ Kasai

    เป็นการผ่าตัดเพื่อให้น้ำดีสามารถไหลลงลำไส้ได้โดยตรง วิธีนี้เหมาะกับทารกที่มีอายุน้อยกว่า 3 เดือน เพราะพบว่าทารกที่อายุมากกว่านี้ ทางเดินน้ำดีขนาดเล็กภายในตับและขั้วตับจะถูกทำลายลงอย่างมาก อาจจะมีลักษณะตับแข็งและไม่สามารถแก้ไขให้กลับคืนมาเหมือนปกติได้

    หากการผ่าตัดไม่ประสบความสำเร็จ (ซึ่งมีประมาณร้อยละ15-40) จะต้องทำการปลูกถ่ายตับภายในระยะเวลา 1-2 ปี และแม้การผ่าตัดจะประสบความสำเร็จ ทารกส่วนใหญ่จะตับแข็งและต้องทำการปลูกถ่ายตับตอนโต

    ส่วนกรณีที่ไม่ผ่าตัด ทารกที่เป็นโรคทางเดินน้ำดีตีบตันมักจะมีอายุไม่เกิน 2 ปี

  • การปลูกถ่ายตับ (Liver transplant)

    เป็นวิธีสุดท้ายของการรักษาโรคทางเดินน้ำดีตีบตัน โดยมีอัตราการอยู่รอดที่เพิ่มขึ้นทุกปี

    การปลูกถ่ายตับสามารถทำได้โดยการรับบริจาคตับในขนาดที่เท่ากัน กล่าวคือ เป็นตับจากเด็กเล็กด้วยกัน อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันด้วยวิวัฒนาการที่ก้าวหน้า ทำให้สามารถผ่าเอาตับบางส่วนของผู้ใหญ่มาใส่ในเด็กที่เรียกว่า Reduced-size / Split-liver transplant ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี

    โดยตับนั้นอาจได้รับจากทั้งผู้ที่เสียชีวิตและผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยเซลล์ตับที่แข็งแรงจะสามารถโตได้เร็ว ทำให้ตับของผู้ให้และผู้รับกลับมาสมบูรณ์ได้

    ทั้งนี้ การผ่าตัดแบบ Kasai อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้ดังนี้

  • ท้องมานหรือน้ำขังในช่องท้อง (Ascites) ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่เกิดจากการมีน้ำในช่องท้อง (Spontaneous bacterial peritonitis = SBP) โดยอาการท้องมานมักหายไปในไม่กี่สัปดาห์ อย่างไรก็ดีหากมีอาการท้องมานนานเกิน 6 สัปดาห์ ทารกมักจะเป็นตับแข็งและบางทีต้องทำการปลูกถ่ายตับ
  • ท่อน้ำดีอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial cholangitis) ซึ่งรักษาได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
  • ภาวะความดันในหลอดเลือดดำ (Portal hypertension) เพราะหลอดเลือดดำเป็นตัวนำเลือดจากท้อง ลำไส้ ม้าม (Spleen) ถุงน้ำดี (Gallbladder) และตับอ่อน (Pancreas) ไปยังตับ กรณีตับแข็ง เลือดจะไหลช้าลงทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูงขึ้น ซึ่งสามารถทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ ต้องรับการผ่าตัดหรือปลูกถ่ายตับในที่สุด
  • อาการคัน (Pruritus) ที่เกิดจากน้ำดีในเลือดที่ระคายต่อผิวหนัง ซึ่งรักษาได้ด้วยการให้ยา

ทารกที่เป็นโรคทางเดินน้ำดีตีบตันมักมีอาการทุพโภชนาการ ขาดสารอาหาร และต้องการอาหารพิเศษเพื่อการเจริญเติบโต อาจจำเป็นต้องได้รับอาหารที่มีแคลอรี่สูง เพราะโรคทางเดินน้ำดีตีบตันทำให้มีการเผาผลาญที่เร็วมาก (Faster metabolism)

นอกจากนี้โรคทางเดินน้ำดีตีบตันยังทำให้การย่อยไขมันเป็นไปได้ยากอันเป็นสาเหตุของการขาดโปรตีนและวิตามิน ดังนั้นจึงอาจต้องมีการให้อาหารเสริมวิตามินและกรดไขมันขนาดโมเลกุลปานกลาง (Medium-chain triglyceride oil) ผสมลงในอาหาร เครื่องดื่ม และนม เพื่อให้ย่อยง่ายขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยน้ำดี

แหล่งข้อมูล

1. Biliary Atresia. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/liver-disease/biliary-atresia/Pages/facts.aspx 2016, June 1].

2. Biliary atresia. http://www.cincinnatichildrens.org/health/b/biliary/ [2016, June 1].