ทางเดินน้ำดีตีบตัน (ตอนที่ 1)

ทางเดินน้ำดีตีบตัน

จากรายงานข่าวเกี่ยวกับหญิงชาวบ้านอายุ 43 ปี ในจังหวัดสงขลา ผู้เป็นแม่ใจพระที่ยอมเสียสละผ่าตัดเปลี่ยนตับของตัวเองให้แก่ลูกสาววัย 8 ขวบ ที่ป่วยด้วยโรคท่อน้ำดีอุดตันมาตั้งแต่เกิดจนอาการหนักระยะสุดท้าย และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระราชานุเคราะห์ เรามาดูกันถึงรายละเอียดของโรคนี้

โรคท่อน้ำดีอุดตัน หรือ ทางเดินน้ำดีตีบตัน (Biliary atresia) เป็นโรคที่ทำให้เด็กเสียชีวิตได้ เกิดจากการที่ทางเดินน้ำดีทั้งภายในตับและภายนอกตับไม่เปิดตามปกติ อาจเป็นบางส่วนหรือทั้งหมด เพราะการอักเสบและเกิดเนื้อเยื่อพังผืดอย่างต่อเนื่องของระบบทางเดินน้ำดี มีสารบิลิรูบินเข้มข้นที่สร้างมาใหม่ไหลออกมาไม่ได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลทำให้มีการคั่งของน้ำดี ทำให้น้ำดีถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดมากขึ้น

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักทางเดินน้ำดี หรือ ท่อน้ำดี (Bile ducts / hepatic ducts) กันก่อนว่า น้ำดี (Bile) ถูกสร้างขึ้นโดยตับ ส่งมาตามท่อน้ำดี เพื่อมาเก็บที่ถุงน้ำดี โดยน้ำดีมีหน้าที่หลัก 2 อย่าง คือ

  1. นำสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกาย
  2. ช่วยร่างกายย่อยไขมันให้แตกกระจายเป็นโมเลกุลเล็กๆ เพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารละลายในไขมัน (เช่น วิตามิน A, D, E, และ K) เข้ากระแสเลือดต่อไป

เมื่อทางเดินน้ำดีตีบตัน จะมีผลให้เนื้อเยื่อตับเสีย ตับแข็ง (Cirrhosis) เรื้อรัง ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่ขับสารพิษออกจากเลือดได้ตามปกติ สารพิษจะคงอยู่ในเลือดและตับ หากไม่ทำการรักษาตับจะวาย

ทางเดินน้ำดีตีบตันเป็นโรคที่พบยาก มีโอกาสเกิดขึ้นในเด็กทารก 1 คน จากจำนวน 18,000 คน และมักเกิดในเพศหญิง เด็กคลอดก่อนกำหนด เด็กชาวเอเชียหรืออเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน อาการของโรคทางเดินน้ำดีตีบตันมักปรากฎในสัปดาห์ที่ 2-6 หลังการคลอด

โดยอาการอย่างแรกของโรคทางเดินน้ำดีตีบตัน ก็คือ อาการตัวเหลืองและตาเหลือง ซึ่งมีสาเหตุมาจากการที่ตับไม่สามารถปล่อยสารบิลิรูบิน (Bilirubin) ที่เกิดจากการแตกตัวของฮีโมโกลบินไปยังน้ำดี เพราะการอุดตันของทางเดินน้ำดีทำให้มีสารบิลิรูบินคงอยู่ในเลือดเป็นจำนวนมาก

สำหรับอาการอื่นๆ โดยทั่วไป ได้แก่

  • ปัสสาวะสีเข้ม เพราะสารบิลิรูบินในเลือดล้นมาสู่น้ำปัสสาวะ
  • อุจจาระสีเทาหรือขาว เพราะสารบิลิรูบินไปไม่ถึงลำไส้
  • น้ำหนักตัวเพิ่มช้าและโตช้า
  • ม้ามโต

แหล่งข้อมูล

1. ทหารมอบบ้านให้แม่ใจพระเปลี่ยนตับให้ลูกที่สงขลา. http://manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9590000048383&Keyword=%e2%c3%a4 [2016, May 30].

2. Biliary Atresia. http://www.niddk.nih.gov/health-information/health-topics/liver-disease/biliary-atresia/Pages/facts.aspx 2016, May 30].

3. Biliary atresia. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001145.htm [2016, May 30].

4. Biliary atresia. http://www.liverfoundation.org/abouttheliver/info/biliaryatresia/ [2016, May 30].