ทริปโทรีลิน (Triptorelin)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทริปโทรีลิน(Triptorelin หรือ Triptorelin pamoate หรือ Triptorelin acetate หรือ Triptorelin embonate) เป็นยาสังเคราะห์ประเภทฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง(Gonadotropin-releasing hormone agonist /GnRH agonist) เมื่อใช้ยานี้อย่างต่อเนื่อง ตัวยาจะมีกลไกการออกฤทธิ์ทำให้การหลั่งฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน(Testosterone) และฮอร์โมนเอสตร้าไดออล(Estradiol หรือ Oestradiol)ของร่างกายมนุษย์ลดลง ทางคลินิกจึงนำยานี้มาใช้รักษา โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก หรือ เนื้องอกมดลูก การตัดสินใจใช้ยาทริปโทรีลินหรือไม่นั้น ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แต่ผู้เดียว

ยาทริปโทรีลินมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์เป็นยาฉีด สามารถฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือไม่ก็ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 1.6-4 ชั่วโมงเพื่อกำจัดยาทริปโทรีลินออกจากกระแสเลือด โดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

ผู้ที่ไม่เคยมีประวัติ แพ้ส่วนประกอบของสูตรตำรับยาทริปโทรีลิน ยังสามารถใช้ยาชนิดนี้ได้ โดยเปลี่ยนไปใช้ตัวยานี้ที่มีส่วนประกอบเป็นสารชนิดอื่นแทนสารที่แพ้ แต่ห้ามใช้ยาทริปโทรีลินกับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ ด้วยสามารถทำให้เกิดอันตรายทั้งกับตัวทารกและมารดาได้

กรณีที่ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว จะต้องแจ้งให้แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบด้วยทุกครั้ง เพราะมีโรคประจำตัวบางประเภทที่จะทวีความรุนแรงขึ้นมาเมื่อร่างกายได้รับยาทริปโทรีลิน เช่น ผู้ที่มีภาวะทางเดินปัสสาวะหรือกระเพาะปัสสาวะอุดตัน ผู้ที่มีการเจริญเติบโตผิดปกติ ผู้ที่มีอาการหัวใจเต้นผิดปกติ

ผู้ที่ใช้ยาบางชนิด อย่างเช่นยา Promethazine หากใช้ร่วมกับยาทริปโทรีลินจะทำให้ประสิทธิภาพการออกฤทธิ์ของยาทริปโทรีลินลดลง ดังนั้นผู้ป่วยจึงต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ด้วยว่า กำลังใช้ยาอื่นๆอไรอยู่บ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดปฏิกิริยาระหว่างยา

การใช้ยาทริปโทรีลินรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกที่มดลูก และ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ จะต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยแพทย์จะนัดผู้ป่วยมารับการฉีดยานี้เป็นระยะๆ

ยาทริปโทรีลิน ยังถูกนำมารักษาภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัย/ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย โดยมีขนาดการใช้ยาขึ้นกับน้ำหนักตัวของเด็กเป็นสำคัญ

โดยทั่วไป การฉีดยาทริปโทรีลินให้ผู้ป่วยจะกระทำแต่ในสถานพยาบาล แพทย์ พยาบาล มักจะฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อของผู้ป่วย และจะหลีกเลี่ยงการฉีดยาซ้ำในตำแหน่งเดิมทั้งนี้เพื่อลดอาการฟกช้ำของผิวหนัง กรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับการให้ยานี้ตามนัดหมาย ควรต้องรีบติดต่อ แพทย์ พยาบาล หรือ บุคคลากรทางการแพทย์ที่กี่ยวข้อง เพื่อนัดหมายการฉีดยาครั้งใหม่โดยเร็ว

มีข้อมูลด้านความปลอดภัยของการใช้ยาทริปโทรีลินที่ผู้ป่วย/ผู้บริโภคควรทราบอยู่หลายประการที่จะเป็นประโยชน์และใช้เป็นแนวทางของแผนการรักษาโรคอาทิ เช่น

  • ต้องแจ้ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร หากมีประวัติแพ้ยานี้ หรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • หากมีอาการวิงเวียนหลังได้รับยาทริปโทรีลิน ต้องงดการขับขี่ยานพาหนะและทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ระหว่างใช้ยานี้ ห้ามดื่มสุรา รวมถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ โดยเด็ดขาด ด้วยจะส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงจากยานี้ โดยเฉพาะอาการวิงเวียน
  • ในสัปดาห์แรกของการได้รับยานี้ หากผู้ป่วยมีอาการปวดกระดูก มีเลือดปนในปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะลำบาก/ปัสสาวะขัด มีอาการชาตามเนื้อตัว แขน ขา ให้ผู้ป่วยรีบกลับเข้ามาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ยาทริปโทรีลินจะทำให้ฮอร์โมนเพศตามธรรมชาติในร่างกายลดลงจนเกิดการเปลี่ยนแปลง สมดุลของฮอร์โมนเพศและก่อให้เกิดอาการต่างๆตามมา เช่น หน้าอก/เต้าผาย/ขยายและนิ่ม ขนาดอัณฑะเปลี่ยนไป/เล็กลง รู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมากตอนกลางคืน กรณีเหล่านี้ ผู้ป่วยควรกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเพื่อได้รับการเยียวยาอาการดังกล่าว
  • ผู้ป่วยอาจพบอาการหัวใจเต้นผิดปกติ จากคลื่นไฟฟ้าหัวใจเกิดการเปลี่ยนแปลง กรณีเช่นนี้ ผู้ป่วยควรรีบมาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน เพื่อได้รับการบำบัดรักษาโดยเร็ว
  • ผู้ที่ใช้ยานี้ อาจเกิดความเสี่ยงต่อหลอดเลือดสมองแตก ส่งผลให้พูดจาได้ไม่ชัดเจน ชาแขน-ขา ปวดแขนด้านซ้าย เป็นลม ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียน กรณีเช่นนี้ ให้รีบปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • ยาทริปโทรีลิน อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แพทย์อาจต้องให้ยาลดน้ำตาลในเลือด(ยาเบาหวาน)ร่วมด้วย และถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ผู้ป่วยต้องได้รับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นระยะๆไปตามแพทย์สั่ง

จะเห็นได้ว่า ผลข้างเคียง และอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากตัวยาทริปโทรีลินมีหลายประการ ดังนั้นการใช้ยานี้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

อนึ่ง หากผู้ป่วย/ผู้บริโภคต้องการทราบข้อมูลของยาทริปโทรีลินเพิ่มเติม สามารถสอบถามได้จากแพทย์หรือเภสัชกรในสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาได้

ทริปโทรีลินมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทริปโทรีลิน

ยาทริปโทรีลินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เนื้องอกมดลูก เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
  • บำบัดภาวะเป็นหนุ่มสาวก่อนวัยในเด็ก/ภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย

ทริปโทรีลินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาทริปโทรีลินคือ ตัวยาจะเป็นยาสังเคราะห์เลียนแบบฮอร์โมนโกนาโดโทรปิน รีลิสซิง (GnRH) ตามธรรมชาติ ในช่วงสัปดาห์แรกที่ได้รับยานี้ จะทำให้ผู้ที่เป็นบุรุษจะมีฮอร์โมนเทสทอสเตอโรน(Testosterone)เพิ่มขึ้นชั่วคราวหากเป็นสตรี จะทำให้ระดับฮอร์โมนเอสตร้าไดออล(Estradiol)เพิ่มขึ้นชั่วคราว เช่นกัน จากผลดังกล่าวจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการโรคแย่ลงในช่วงแรกๆของการรักษา แต่ เมื่อใช้ยานี้ต่อเนื่อง ตัวยานี้จะส่งผลยับยั้งการหลั่งเทสทอสเตอโรน และ/หรือเอสตร้าไดออลในร่างกายผู้ป่วยให้น้อยลง และทำให้เกิดผลของการรักษาได้ตามสรรพคุณ

ทริปโทรีลินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทริปโทรีลินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาฉีด ที่มีส่วนประกอบของ Triptorelin ขนาด 3.75 มิลลิกรัม/ขวด

ทริปโทรีลินมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาทริปโทรีลินมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

ก. สำหรับรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 3.75 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ ทุกๆ 4 สัปดาห์ หรือ ฉีดยาขนาด 11.25 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ ทุกๆ 12 สัปดาห์ หรือ ฉีดยาขนาด 22.5 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ ทุกๆ 24 สัปดาห์

ข.สำหรับรักษา เนื้องอกมดลูก หรือ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่:

  • ผู้ใหญ่: ฉีดยาขนาด 3.75 มิลลิกรัม เข้ากล้ามเนื้อ ทุกๆ 4 สัปดาห์ เป็นระยะๆ ต่อเนื่องถึง 6 เดือน โดยเริ่มให้ยาในช่วง 5 วันแรกของรอบเดือน/รอบประจำเดือน

อนึ่ง:

  • เด็ก: โรคทั้งในข้อ ก และข้อ ข เป็นโรคของผู้ใหญ่
  • ในเด็กภาวะเจริญพันธ์ก่อนวัย ขนาดยานี้ ขึ้นกับอาการโรคและดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียง ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทริปโทรีลิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ อย่างเช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคความดันโลหิตต่ำ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทริปโทรีลิน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมมารับการฉีดยาควรทำอย่างไร?

ผู้ป่วยจะต้องได้รับยาทริปโทรีลินเป็นระยะๆจากสถานพยาบาลเท่านั้น หากลืมมารับการฉีดยา ต้องทำการนัดหมายกับแพทย์อีกครั้ง เพื่อรับการฉีดยานี้โดยเร็ว

ทริปโทรีลินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทริปโทรีลินสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น โลหิตจาง เม็ดเลือดแดงและฮีโมโกลบิน ต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น อาเจียน ปวดท้อง เบื่ออาหาร ท้องอืด คลื่นไส้ ท้องผูกหรือท้องเสีย
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน วิงเวียน ปวดศีรษะ ความจำแย่ลง มีอาการชัก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หน้าแดง มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง หัวใจวาย เกิดลิ่มเลือดที่ทำให้เส้นเลือด/หลอดเลือดอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำตาลในเลือดสูง เบื่ออาหาร มีภาวะ/โรคเกาต์เล่นงาน
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน เกิดสิว ลมพิษ ผมร่วง เหงื่อออกกลางคืน เหงื่อออกมาก
  • ต่อกล้ามเนื้อและกระดูก: เช่น ปวดกระดูก ข้อบวม กระดูกหักง่าย ปวดหลัง ปวดกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น อารมณ์เปลี่ยนแปลง/อารมณ์แปรปรวน ซึม วิตกกังวล นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไอ คออักเสบ มีอาการหอบ หลอดลมอักเสบ
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น มีเลือดออกที่ช่องคลอด/ประจำเดือนผิดปกติ ประจำเดือนขาด โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ลูกอัณฑะเล็กลง สมรรถภาพทางเพศถดถอย เลือดออกที่ทางเดินปัสสาวะ/ปัสสาวะเป็นเลือด
  • ผลต่อตับ: เช่น เอนไซม์การทำงานของตับในเลือดสูงขึ้น ตับทำงานผิดปกติ/ตับอักเสบ
  • ผลต่อตา: เช่น ปวดลูกตา ตาพร่า

มีข้อควรระวังการใช้ทริปโทรีลินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทริปโทรีลิน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
  • ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น สียาเปลี่ยนไป ยาตกตะกอนแข็ง
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วย โรคเบาหวาน ผู้ทีมีภาวะมวลกระดูกต่ำ มีภาวะปัสสาวะขัด/ปัสสาวะลำบาก ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ
  • หากเกิดอาการผิดปกติต่างๆกับร่างกายหลังใช้ยานี้ เช่น แน่นหน้าอก ปัสสาวะมีเลือดปน อวัยวะเพศผิดปกติไป ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ฯลฯ ให้รีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
  • ระหว่างใช้ยานี้ ควรต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แพทย์ พยาบาล เภสัชกร อย่างเคร่งครัด และมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทริปโทรีลินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร ต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทริปโทรีลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทริปโทรีลินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาทริปโทรีลินร่วมกับยา Anagrelide, Dolasetron , Sotalol, Clozapine, Quinidine, ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดปกติตามมา
  • ห้ามใช้ยาทริปโทรีลินร่วมกับยา Loperamide เพราะจะทำให้หัวใจเต้นผิดปกติจนถึงขั้นหัวใจหยุดเต้นเกิดขึ้นมาได้
  • การใช้ยาทริปโทรีลินร่วมกับยา Glimepiride อาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือด ผิดปกติ หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาทริปโทรีลินอย่างไร?

ควรเก็บยาทริปโทรีลิน ภายใต้อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius) ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้น แสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ทริปโทรีลินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทริปโทรีลิน ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Decapeptyl CR (ดีคาเปปทิล ซีอาร์)Ferring

อนึ่ง ยาชื่อการค้าอื่นของยานี้ เช่น Diphereline , Gonapeptyl, Gonadorelin, Decapeptyl

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/cdi/triptorelin.html[2017,April29]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Triptorelin[2017,April29]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/decapeptyl%20cr/?type=brief [2017,April29]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/triptorelin/?type=brief&mtype=generic[2017,April29]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/triptorelin-index.html?filter=2#D[2017,April29]