ทริปโตเฟน (Tryptophan)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือยาอะไร?

ทริปโตเฟน (Tryptophan) คือ  สารอาหารประเภทกรดอะมิโนที่จำเป็นในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ร่างกายคนเราไม่สามารถสังเคราะห์ได้เอง แต่จะได้รับจากอาหารที่รับประทานในแต่ละวัน ทริปโตเฟนมีความจำเป็นต่อร่างกายโดยจะทำหน้าที่ป้องกันอาการเจ็บป่วยและทำให้เซลล์มีอายุอยู่ได้ ร่างกายของมนุษย์จะใช้ทริปโตเฟนเป็นสารตั้งต้นเพื่อสร้างสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า เซโรโทนิน (Serotonin) นอกจากนี้ร่างกายยังใช้ทริปโตเฟนเป็นสารตั้งต้นในการสังเคราะห์วิตามินที่มีชื่อว่า Niacin (กรดนิโคตินิก/วิตามิน บี3)

กลุ่มอาหารที่อุดมไปด้วยสารทริปโตเฟนเช่น ข้าวโอ๊ต  นม โยเกิร์ต เนื้อแดง ไข่ เนื้อไก่ เนื้อปลา งา อัลมอนด์ เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง สาหร่ายสไปรูลิน่า (Spirulina) กล้วย ถั่วต่างๆ และช็อกโกแลต

ทริปโตเฟน สามารถดูดซึมได้อย่างดีจากระบบทางเดินอาหาร หลังจากทริปโตเฟนเข้าสู่ร่างกาย จะต้องใช้เวลาประมาณ 1 - 3 ชั่วโมงในการกำจัดทริปโตเฟนจำนวนครึ่งหนึ่งออกจากกระแสเลือด ทริปโตเฟนที่อยู่ในร่างกายจะถูกเปลี่ยนโครงสร้างเป็น 5-Hydroxytryptophan (5-HTP) ซึ่งช่วยระงับอาการลมชักและลดภาวะซึมเศร้า 5-HTP สามารถผ่านเข้าไปในกลุ่มเส้นเลือดฝอยในสมองได้ และถูกเปลี่ยนโครงสร้างไปเป็น Serotonin โดยอวัยวะตับอีกครั้ง ทางคลินิกสาร Serotonin มีอิทธิพลต่ออารมณ์ช่วยทำให้นอนหลับรวมถึงส่งผลต่อการทำงานของลิ้นหัวใจอีกด้วย

ทริปโตเฟน ถูกวางจำหน่ายในทวีปยุโรปโดยมีวัตถุประสงค์รักษาอาการของโรคซึมเศร้า ในบางประเทศจะจำหน่ายทริปโตเฟนในรูปแบบของอาหารเสริมและไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งยาจากแพทย์เพื่อซื้อหามารับประทาน

 ก่อนการใช้ทริปโตเฟนผู้ป่วยควรได้รับการตรวจร่างกายเพื่อยืนยันว่าสมควรใช้ทริปโต เฟนหรือไม่ การใช้หรือการรับประทานต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นและไม่ควรปรับขนาดการใช้ด้วยตนเอง

ทริปโตเฟนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

ทริปโตเฟน

ทริปโตเฟนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:

  • เพื่อรักษาภาวะซึมเศร้า

ทริปโตเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ทริปโตเฟนมีกลไกการออกฤทธิ์คือ หลังจากร่างกายได้รับทริปโตเฟน ตับจะเปลี่ยนสารนี้ไปเป็นสารสื่อประสาทที่มีชื่อว่า Serotonin ที่ช่วยลดภาวะซึมเศร้าและทำให้นอนหลับ จากกล ไกดังกล่าวทำให้มีฤทธิ์รักษาตามสรรพคุณ

ทริปโตเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ทริปโตเฟนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250, 500, 750 และ 1,000 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 500 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาวิตามินชนิดรับประทานที่มีสารอาหารอื่นผสมร่วมด้วย
  • สารอาหารที่ผสมร่วมกับวิตามินชนิดอื่นในลักษณะยาฉีด

ทริปโตเฟนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ทริปโตเฟนมีขนาดรับประทาน  เช่น

  • ผู้ใหญ่: เช่น รับประทานครั้งละ 1,000 มิลลิกรัมวันละ 3 ครั้ง ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 6,000 มิลลิกรัม/วัน ผู้สูงอายุและผู้ป่วยด้วยโรคตับ แพทย์อาจต้องปรับลดขนาดรับประทานลง และควรรับประทานทริปโตเฟนพร้อมอาหาร
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีรายงานแน่ชัดถึงประโยชน์และโทษของทริปโตเฟนในเด็ก การใช้ยา/อาหาร เสริมชนิดนี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงทริปโตเฟน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา และ/หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะทริปโตเฟนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาและ/หรือกับอาหารเสริมอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานทริปโตเฟน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณทริปโตเฟนเป็น 2 เท่า

ทริปโตเฟนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

 ทริปโตเฟนสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น  

  • คลื่นไส้ ซึ่งสามารถลดอาการนี้ได้โดยรับประทานทริปโตเฟนพร้อมกับมื้ออาหาร
  • ปวดหัว
  • ง่วงนอน
  • เกิดกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อที่เรียกว่า Eosinophilia-myalgia syndrome

*อนึ่ง: สำหรับผู้ที่ได้รับยาทริปโตเฟนเกินขนาดจะพบอาการง่วงนอนและอาเจียน การบำบัดรักษากรณีนี้คือการรักษาตามอาการโดยใช้หัตถการทางการแพทย์ที่เหมาะสมจากแพทย์ ดังนั้นเมื่อมีอาการดังกล่าวหลังใช้ยานี้ควรรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

มีข้อควรระวังการใช้ทริปโตเฟนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ทริปโตเฟน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีประวัติเกิดกลุ่มอาการ Eosinophilia-myalgia syndrome หลังการรับประทานทริปโตเฟน
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดภาวะวิงเวียน ง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักร
  • ในช่วงเริ่มต้นของการรักษาอาการซึมเศร้าด้วยทริปโตเฟน ควรต้องควบคุมและเฝ้าระวังติดตามมิให้ผู้ป่วยคิดทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้สูงอายุ ผู้ที่ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
  • การใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร รวมถึงในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) ต้องเป็นไปตามคำ สั่งจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมทริปโตเฟนด้วย) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ทริปโตเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ทริปโตเฟนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ทริปโตเฟน ร่วมกับยากลุ่ม SSRI อาจก่อให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน(Serotonin syndrome) หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ทริปโตเฟน ร่วมกับยา Levodopa สามารถทำให้ระดับของ Levodopa ในกระแสเลือดลดลงส่งผลให้ด้อยประสิทธิภาพในการรักษาลดลง กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีๆไป        

ควรเก็บรักษาทริปโตเฟนอย่างไร?

สามารถเก็บทริปโตเฟน:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ทริปโตเฟนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

         ทริปโตเฟน ยาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Aminoleban (อะมิโนเลแบน) Thai Otsuka
Aminosol-5/Aminosol-10 (อะมิโนซอล-5/อะมิโนซอล-10) Thai Otsuka
Aminoven 10% (อะมิโนเวน 10%) Fresenius Kabi
Amiparen-5/Amiparen-10 (อะมิพาเรน-5/อะมิพาเรน-10) Thai Otsuka
Amiyu (อะมิยู) Ajinomoto Pharma
Banner Protein (แบนเนอร์ โปรตีน) Osotspa
Custodiol (คัสโตดิออล) Dr. F. Kohler Chemie
Dulac Infant Formula (ดูแลค อินแฟนท์ ฟอร์มูลา) Dumex
Dumex Hi-Q H.A. 1 Prebio ProteQ (ดูเม็กซ์ ไฮ-คิว เฮช.เอ. 1 พรีไบโอ โพรเทค) Dumex
Dumex Hi-Q Pepti Prebio ProteQ (ดูเม็กซ์ ไฮ-คิว เปปติ พรีไบโอ โพรเทค) Dumex
Dupro Follow-On Formula (ดูโปร ฟอลโล-ออน ฟอร์มูลา) Dumex
Glomicid (โกลมิซิด) Kalbe International
Hi-Q Follow-On Formula (ไฮ-คิว ฟอลโล-ออน ฟอร์มูลา) Dumex
Hi-Q Infant Formula (ไฮ-คิว อินแฟนท์ ฟอร์มูลา) Dumex
Kidmin (คิดมิน) Thai Otsuka
Moriamin (โมเรียมิน) Far East
Neoamiyu (นิโออะมิยู) Ajinomoto Pharma
Pan-Amin (แพน-อะมิน) Thai Otsuka
Provita (โปรวิต้า) R P Scherer
S-26 SMA Gold (เอส-26 เอสเอ็มเอ โกลด์) Wyeth Nutrition
Tonar (โทนาร์) Sandoz
Optimax (ออฟติแม็กซ์) Merck Serono Limited

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Tryptophan   [2022,April2]
  2. https://www.webmd.com/vitamins/ai/ingredientmono-326/l-tryptophan   [2022,April2]
  3. https://medlineplus.gov/ency/article/002332.htm   [2022,April2]
  4. https://www.medbroadcast.com/drug/getdrug/tryptan#.Vb8H-fOqpBc  [2022,April2]
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Aminoleban/?type=brief  [2022,April2]
  6. https://www.mims.com/thailand/drug/info/tryptophan?mtype=generic   [2022,April2] 
  7. https://www.mims.com/India/drug/info/tryptophan/?type=full&mtype=generic#Dosage   [2022,April2]