ทราโวโพรส (Travoprost)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทราโวโพรส(Travoprost) เป็นยาที่ใช้ควบคุมอาการของโรคต้อหิน และภาวะความดันในลูกตาสูง ยานี้จัดเป็นสารสังเคราะห์ที่มีโครงสร้างเคมีคล้ายคลึงกับสารโพรสตาแกลนดินส์ (Prostaglandin analog) โดยเฉพาะโพรสตาแกลนดินส์ เอฟ 2 แอลฟ่า (Prostaglandin F2 alpha) ยานี้มีกลไกการออกฤทธิ์โดยเพิ่มการไหลออกของของเหลวจากลูกตาจนเป็นเหตุให้แรงดันในลูกตาลดลง รูปแบบผลิตภัณฑ์ยานี้จะเป็นยาหยอดตาที่มีความเข้มข้น 0.004%

หลังการหยอดยาทราโวโพรสนี้ประมาณ 2 ชั่วโมง ตัวยาจึงเริ่มออกฤทธิ์ และมีระยะเวลาการออกฤทธิ์นานประมาณ 24 ชั่วโมง แพทย์จะแนะนำให้ใช้ยาทราโวโพรสหยอดตาเพียงวันละ 1 ครั้งเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันภาวะความดันของลูกตาต่ำเกินไป

สูตรตำรับของยาทราโวโพรส มีทั้งแบบลักษณะของยาเดี่ยว และแบบที่มียาลดความดันโลหิตเป็นส่วนประกอบด้วย อย่างเช่นยา Timolol ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาให้ได้มากยิ่งขึ้น

ข้อจำกัดในการใช้ยาทราโวโพรสที่ผู้บริโภคควรทราบมีดังนี้ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยาทราโวโพรส
  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา
  • ห้ามใช้ขณะที่ตาอักเสบ มีแผล หรือเพิ่งรับการผ่าตัดตามาใหม่ๆ
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หากประสงค์จะใช้ยานี้จะต้องได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

หลังการใช้ยาทราโวโพรส อาจทำให้สายตาพร่ามัว หรือทำให้ตามีความไวต่อแสงมากขึ้น จึงควรหลีกเลี่ยงการขับรถ หรือการทำงานที่ต้องใช้สายตามากๆ นอกจากนี้ยาทราโวโพรสอาจก่อให้เกิดสีของม่านตาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ซึ่งจะเห็นได้ชัดมากขึ้นถ้าผู้ป่วยมีตาสีอ่อนๆ อาทิ สีฟ้า สีเขียว สีเทา และยังเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่มีตาสีน้ำตาลได้อีกด้วย การเปลี่ยนแปลงสีม่านตา อาจจะเกิดถาวรโดยไม่สามารถสังเกตเห็นได้ชัดเป็นเวลาหลายเดือนหรือเป็นปี หากตรวจพบอาการม่านตาเปลี่ยนสี ผู้ป่วยควรต้องปรึกษากับจักษุแพทย์

ระหว่างที่ใช้ยาหยอดตาทราโวโพรส ผู้ป่วยควรต้องรับการตรวจตาจากจักษุแพทย์ตามจักษุแพทย์นัดหมายเสมอ ทั้งเรื่องความดันของลูกตา รวมถึงผลข้างเคียงต่างๆที่อาจเกิดขึ้น

คณะกรรมการอาหารและยาของไทย ได้จัดให้ยาหยอดตาทราโวโพรสอยู่ในหมวดยาอันตรายชนิดสำหรับใช้ภายนอก ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยาหยอดตาชนิดนี้ในสถานพยาบาล และมีจำหน่ายตามร้านขายยาตั้งแต่ขนาดกลางขึ้นไป

ทราโวโพรสมีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทราโวโพรส

ยาทราโวโพรสมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น

  • รักษาอาการความดันในลูกตาสูง (Intraocular Hypertension)
  • รักษาอาการของต้อหิน (Open-angle glaucoma)

ทราโวโพรสมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาทราโวโพรสมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะออกฤทธ์ที่ตัวรับ(Receptor) บริเวณเนื้อเยื่อของลูกตาซึ่งถูกเรียกว่า Prostaglandin F receptor ที่เป็นตัวรับของ Prostaglandin F2 alpha ทำให้เพิ่มการไหลออกของของเหลวในลูกตา จึงส่งผลลดความดันของลูกตาในที่สุด จากกลไกดังกล่าวจึงเป็นที่มาของฤทธิ์การรักษาตามสรรพคุณ

ทราโวโพรสมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาทราโวโพรสมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาหยอดตาที่เป็นยาเดี่ยว ขนาดความเข้มข้น 0.004% (40 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร)
  • ยาหยอดตาที่ผสมร่วมกับยาอื่น เช่น Travoprost 40 ไมโครกรัม + Timolol maleate 5 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

ทราโวโพรสมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาทราโวโพรส มีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น

  • ผู้ที่อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: หยอดตาครั้งละ 1 หยดในตาข้างที่มีอาการโรค วันละครั้ง ก่อนนอน
  • ผู้ที่อายุต่ำกว่า 16 ปี: ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา

*อนึ่ง

  • หากใช้ยาหยอดตาชนิดอื่นร่วมด้วย ห้ามหยอดยาพร้อมกัน แต่ให้เว้นระยะเวลาของการหยอดยาห่างกัน 5 นาทีเป็นอย่างต่ำ
  • ล้างมือทำความสะอาดทุกครั้งก่อนและหลังหยอดยา
  • ห้ามมิให้ปลายหลอดหยอดยาสัมผัสกับ ขนตา หนังตา ดวงตา ทั้งนี้เพื่อเป็นการ ป้องกันการปนเปื้อนต่างๆลงไปในตัวผลิตภัณฑ์ยา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทราโวโพรส ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทราโวโพรส อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กินอยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมหยอดยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมหยอดยาทราโวโพรส ผู้ป่วยสามารถหยอดยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการหยอดยาในครั้งถัดไป ให้หยอดยาในขนาดปกติ และไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ผู้ป่วยต้องหยอดยาทราโวโพรส ตรงเวลา และห้ามปรับขนาดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง

ทราโวโพรสมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาหยอดตาทราโวโพรส สามารถถูกดูดซึมจากตาเข้าสู่กระแสโลหิต/เข้าสู่ร่างกายได้ จึงอาจพบเห็นผลไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ของยาหยอดตาทราโวโพรสต่อระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกายได้ ดังนี้ เช่น

  • ผลต่อตา: เช่น มีตาแดง เยื่อตาอักเสบ รู้สึกไม่สบายตา มีอาการคันและปวดตา ตาพร่า อาจเกิดต้อกระจก สีม่านตาเปลี่ยน กระจกตาอักเสบ ตาแห้ง
  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น รู้สึกไม่สบายในช่องท้อง ปากแห้ง มีแผลในกระเพาะอาหาร ท้องผูก
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น ปวดศีรษะ วิงเวียน
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันโลหิตสูงหรือไม่ก็ต่ำ
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอ มีอาการคล้ายโรคหวัด หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น ก่อให้เกิดอารมณ์ซึมเศร้า และวิตกกังวล
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง-ไหล่
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจกระตุ้นให้เกิดผื่นคัน สีผม-สีผิวหนังเปลี่ยนไป
  • ผลต่อการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะคอเลสเตอรอลในเลือดสูง (Hypercholesterolemia)
  • ผลต่อระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย: เช่น อาจติดเชื้อเริมได้ง่าย

มีข้อควรระวังการใช้ทราโวโพรสอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทราโวโพรส เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และเด็ก โดยไม่มีคำสั่ง จากแพทย์ผู้รักษา
  • ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ที่มีการปนเปื้อนสิ่งสกปรก เช่น ขุ่น มีเศษผง หรือเปลี่ยนสี
  • ห้ามปรับขนาดการหยอดยานี้ด้วยตนเอง
  • ห้ามใส่คอนแทคเลนส์ขณะที่ใช้ยานี้
  • แจ้งแพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทุกครั้งก่อนเข้ารับการรักษาว่า มีโรคประจำตัวใดบ้าง หรือมีการใช้ยาประเภทใดอยู่ก่อน
  • หากใช้ยานี้เป็นเวลาตามที่แพทย์แนะนำแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ให้ผู้ป่วยรีบกลับมา ปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัด เพื่อรับการตรวจสอบการทำงานของตาว่าเป็นปกติหรือยัง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทราโวโพรสด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.comบทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทราโวโพรสมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทราโวโพรส มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ทราโวโพรสร่วมกับยาหยอดตา Bimatoprost/ยาลดความดันในลูกตา อาจทำให้มีอาการความดันในลูกตาต่ำลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ประสิทธิภาพการรักษาของยาทราโวโพรส สามารถลดลง เมื่อใช้ร่วมกับยา Infliximab/ยารักษาโรคออโตอิมมูน หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน

ควรเก็บรักษาทราโวโพรสอย่างไร?

ควรเก็บยาทราโวโพรส ในช่วงอุณหภูมิ 2 – 25 องศาเซลเซียส(Celsius) ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และ ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ทราโวโพรสมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทราโวโพรส ที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Duotrav BAK-free (ดูโอแทรบ แบค ฟรี)Alcon
Travatan BAK-free (แทรบวาแทน แบค ฟรี) Alcon

อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยานี้ ที่จำหน่ายในประเทศตะวันตก เช่น Travatan, Travatan Z

บรรณานุกรม

  1. https://www.drugs.com/dosage/travoprost-ophthalmic.html [2016,Aug13]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Travoprost [2016,Aug13]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/travatan%20bak-free/?type=brief [2016,Aug13]
  4. http://www.mims.com/thailand/drug/info/travoprost/?type=brief&mtype=generic [2016,Aug13]
  5. https://www.drugs.com/drug-interactions/bimatoprost-topical-with-travoprost-ophthalmic-3111-0-2227-0.html [2016,Aug13]