ทราโซโดน (Trazodone)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ทราโซโดน (Trazodone) คือ ยาบำบัดอาการซึมเศร้า (ยาต้านเศร้า)ของผู้ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มยาเซโรโทนิน-แอนตาโกนิสต์ (Serotonin antagonists) รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยานี้จะเป็นยาชนิดรับประทาน หลังการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหาร ตัวยาจะกระจายตัวเข้าสู่ร่างกายได้ประมาณ 65% เมื่อ   ตัวยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้ารวมตัวกับพลาสมาโปรตีนประมาณ 89 - 95% ก่อนที่จะถูกเปลี่ยนแปลงโครงสร้างโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือดโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ

 มีข้อพึงระวังบางประการของการใช้กลุ่มยาต้านเศร้าทั่วไปกับผู้ป่วยเด็ก-วัยรุ่น(นิยามคำว่าเด็ก) จะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองจนถึงขั้นฆ่าตัวตาย แต่กับยาทราโซโดนซึ่งมีการทดลองใช้รักษาอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยเด็ก ยังไม่พบเหตุการณ์ที่ผู้ใช้ยาอยากทำร้ายตัวเอง ซึ่งถือเป็นข้อมูลสำคัญที่นำมาใช้สนับสนุนกลไกการรักษาโรคซึมเศร้าของยาทราโซโดน

มีข้อห้ามใช้บางประการที่ทำให้ไม่สามารถใช้ยาทราโซโดนรักษาอาการป่วยกับผู้ป่วยบางกลุ่มได้ เช่น

  • ผู้ป่วยเคยมีประวัติแพ้ยาทราโซโดนมาก่อน
  • ผู้ป่วยอยู่ในระหว่างการใช้ยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOI) อยู่แล้ว
  • ผู้ป่วยวัยรุ่นที่เคยมีความคิดฆ่าตัวตายขณะที่ใช้ยาต้านเศร้า
  • ต้องเพิ่มความระวังเป็นอย่างมากหากจะใช้ยาทราโซโดนกับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆอาทิเช่น โรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคลมชัก โรคต้อหิน และผู้ที่อยู่ในภาวะตกเลือด เช่น มีแผลที่เลือดออกมาก

 หลังการสั่งจ่ายยานี้ของแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับคำชี้แจงเพิ่มเติมถึงฤทธิ์ของยาที่อาจเกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยรวมถึงคำแนะนำวิธีการรับประทานยานี้ที่ถูกต้อง เช่น

  • หากเป็นยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/เนิ่นนานหรือออกฤทธิ์ได้ยาวนานก็ให้รับประทานเพียงวันละ1ครั้ง แต่ถ้าเป็นยาที่ออกฤทธิ์ทันทีต้องแบ่งรับประทานตามมื้อของอาหาร
  • ระหว่างการใช้ยานี้อาจมีอาการ ตาพร่า วิงเวียน ง่วงนอน ปากคอแห้ง แต่อาการข้างเคียง (ผล ข้างเคียง) เหล่านี้อาจจะเกิดหรือไม่เกิดกับผู้ป่วยก็ได้
  • ควรรับประทานยานี้ให้ตรงเวลา อย่าปรับเปลี่ยนขนาดรับประทานยาด้วยตนเอง หรือหยุดใช้ ยานี้ด้วยตนเองโดยทันทีเพราะอาจจะพบอาการถอนยา(ลงแดง)ติดตามมาจนส่งผลกระทบโดยตรงกับตัวผู้ป่วยเอง

ทั้งนี้ คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้ระบุให้ยาทราโซโดนอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และถูกจัดอยู่ในหมวดของยาอันตราย เราจะพบเห็นการใช้ยานี้ตามสถานพยาบาล และการใช้ยานี้กับผู้ป่วยจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อหายานี้มารับประทานเองโดยเด็ดขาด

ทราโซโดนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) ใช้รักษาโรคอะไร?

ยาทราโซโดนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาอาการโรคซึมเศร้า (Depression)       

ทราโซโดนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาทราโซโดนคือ ตัวยาจะออกฤทธิ์ที่ตัวรับ (Receptor) ซึ่งมีชื่อว่า 5-HT2A/2C (Serotonin receptor 2A/2C หรือ 5-hydroxytryptamine 2A/2C receptor) โดยจะยับยั้งการดูดกลับของสารเซโรโทนิน (Serotonin) ในสมองบริเวณที่เรียกว่า Presynaptic neurons ส่งผลให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาทในสมองจนทำให้ลดอาการซึมเศร้าและช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น

ทราโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ทราโซโดนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/แคปซูล
  • ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 50 และ 100 มิลลิกรัม/เม็ด
  • ยาเม็ดชนิดรับประทานแบบออกฤทธิ์เนิ่น/เนิ่นนาน(Extended-release tablet) ขนาด 150 มิลลิกรัม/เม็ด

ทราโซโดนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาทราโซโดนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. สำหรับยาชนิดที่ออกฤทธิ์ทันที: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานพร้อมอาหาร แพทย์อาจปรับขนาดรับประทานเพิ่ม 50 มิลลิกรัม/วันทุกๆ 3 - 4 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดของผู้ป่วยที่รักษาแบบผู้ป่วยนอกไม่เกิน 400 มิลลิกรัม/วัน และสำหรับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลไม่เกิน 600 มิล ลิกรัม/วัน
  • เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) และผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ การใช้ยาในกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

ข. สำหรับยาชนิดออกฤทธิ์เนิ่น/เนิ่นนาน: เช่น

  • ผู้ใหญ่: รับประทานยา 150 มิลลิกรัมวันละ1ครั้งพร้อมอาหาร แพทย์อาจปรับเพิ่มขนาดรับ ประทานอีก 75 มิลลิกรัม/วันทุกๆ 3 วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 375 มิลลิกรัม/วัน
  • เด็กและผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี: ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงผลข้างเคียงของยานี้ในผู้ป่วยกลุ่มอายุนี้ การใช้ยาในกลุ่มอายุนี้จึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป

อนึ่ง:     

  • ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารเพื่อหลีกเลี่ยงอาการข้างเคียงของกระเพาะอาหาร-ลำไส้
  • การหยุดรับประทานยานี้โดยทันทีอาจก่อให้เกิดภาวะถอนยา(ลงแดง)ตามมา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาทราโซโดน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร  เช่น     

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทราโซโดนอาจส่งผลให้อาการ ของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

 หากลืมรับประทานยาทราโซโดน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า

อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษาควรรับประทานยาทราโซโดนให้ตรงเวลา

ทราโซโดนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทราโซโดนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

ก. อาการข้างเคียงที่พบได้บ่อย: เช่น ตาพร่า รู้สึกสับสน วิงเวียน เป็นลม เหงื่อออกมาก อ่อนแรง และอ่อนเพลีย

ข. อาการข้างเคียงที่พบได้แต่น้อย: เช่น แสบร้อนตามผิวหนัง ขาดสมาธิ  ปวดหัว  ตัวสั่น หงุดหงิด หัวใจเต้นช้า  ตัวบวม

ค. *กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด: จะพบอาการวิงเวียน, ง่วงนอนอย่างมาก,  การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี (ECG) เปลี่ยนแปลงผิดปกติ, อาจมีภาวะลมชักร่วมด้วยจนถึงขั้นชักจนหยุดหายใจ, หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉิน ซึ่งการรักษาเบื้องต้น แพทย์อาจใช้วิธีล้างท้องหรือให้รับประทานยาถ่านกัมมันต์ และให้การรักษาตามอาการ

มีข้อควรระวังการใช้ทราโซโดนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาทราโซโดน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยโรคพอร์ฟิเรีย (Porphyria: โรคทางพันธุกรรมที่พบน้อยมากที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดง) และสตรีตั้งครรภ์
  • ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับสุรา/เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี
  • ห้ามหยุดยานี้โดยทันทีด้วยตนเองเพราะจะทำให้เกิดภาวะถอนยา(ลงแดง)ติดตามมา
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง        
  • ระวังการใช้ยานี้กับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรและในผู้สูงอายุ
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาทราโซโดนด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม   ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่ม เติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ทราโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทราโซโดนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามรับประทานยาทราโซโดน ร่วมกับยากลุ่ม เอมเอโอไอ (MAOI) ด้วยจะก่อให้เกิดอาการข้างเคียงที่รุนแรงติดตามมา เช่น อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น ความดันโลหิตสูง และอาจเกิดภาวะโคม่าได้
  • การใช้ยาทราโซโดน ร่วมกับยา 5-Hydroxytryptophan จะทำให้เกิดกลุ่มอาการเซโรโทนิน   ติดตามมาโดยพบอาการคล้ายประสาทหลอน เกิดลมชัก ความดันโลหิตเปลี่ยนแปลง บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่า และตายได้ในที่สุด หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาทราโซโดน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้มีภาวะลมชักเกิดขึ้นได้ง่ายอีกทั้งทำ ให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงของยาทราโซโดนเพิ่มขึ้นอีกด้วย หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้ยาทราโซโดน ร่วมกับยา Quinidine อาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะติด ตามมา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการดังกล่าวแนะนำมิให้ใช้ยาทั้งสองตัวร่วมกัน

ควรเก็บรักษาทราโซโดนอย่างไร?

ควรเก็บยาทราโซโดน:

  • เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ทราโซโดนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทราโซโดน  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Desirel (ดีไซเรล) Codal Synto
Trazo (ทราโซ) Medifive
Trazodone Pharmasant (ทราโซโดน ฟาร์มาซัน) Cental Poly Trading
Zodonrel (โซดอนเรล) Condrugs
Zorel (โซเรล) Utopain

 

 อนึ่ง ยาชื่อการค้าของยาทราโซโดนที่จำหน่ายในประเทศทางตะวันตก เช่น Depyrel, Desyrel, Molipaxin, Oleptro, Trazodil, Trazorel, Trialodine, Trittico

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Serotonin_receptor_antagonist  [2022,April2]
  2. https://www.drugs.com/pro/trazodone.html  [2022,April2]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Trazodone  [2022,April2]
  4. https://www.mims.com/thailand/drug/info/trazodone?mtype=generic  [2022,April2]
  5. http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=3000172&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no=  [2022,April2]
  6. https://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28164  [2022,April2]
  7. https://www.mims.com/India/drug/info/trazodone/?type=full&mtype=generic#Dosage  [2022,April2]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/trazodone-index.html?filter=3&generic_only= [2022,April2]