ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน (Transdermal estrogen)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน(Transdermal estrogen) เป็นรูปแบบผลิตภัณฑ์ฮอร์โมนเอสโตรเจน(Estrogen)ชนิดที่ดูดซึมทางผิวหนัง ซึ่งมีทั้งลักษณะแผ่นแปะผิวหนัง เจล สเปรย์ และอีมัลชั่นสำหรับทาผิวหนัง ทางคลินิกมักจะใช้ยา ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนกับสตรีวัยหมดประจำเดือนที่มีภาวะฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายต่ำ ยานี้มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการจากวัยหมดประจำเดือน เช่น ร้อนวูบวาบ ช่องคลอดแห้ง แสบคัน ตลอดจนกระทั่งภาวะกระดูกพรุน ทั้งนี้บริเวณผิวหนังของร่างกายที่เหมาะต่อการดูดซึมของยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน ได้แก่ ใบหน้า ลำคอ หน้าท้อง แก้มก้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนใช้ยาประเภทฮอร์โมนเพศทุกชนิด รวมถึงยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน ผู้ป่วยควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนทุกครั้ง เพื่อแพทย์ประเมิน อาการสภาพร่างกายผู้ป่วย ตลอดจนผลกระทบ(ผลข้างเคียง)ต่างๆที่ผู้ป่วยอาจได้รับจากยากลุ่มนี้ เช่น

  • มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหรือไม่
  • ขนาดการใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นอย่างไร
  • ควรใช้ยาฮอร์โมนเป็นเวลานานเท่าใด

การเลือกเภสัชภัณฑ์ประเภทฮอร์โมนมาใช้เอง อาจสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบที่รุนแรงตามมา นอกจากนี้ยังมีข้อมูลทางคลินิกบางประการที่ผู้บริโภคควรทราบและทำความเข้าใจก่อนจะเริ่มใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน อาทิ

  • ยาฮอร์โมนประเภทนี้ อาจทำให้มีประจำเดือนผิดปกติ หรือกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด หรือก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย หรือทำให้หลอดเลือดสมองตีบ(โรคหลอดเลือดสมอง)
  • เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมทั้งในสตรีและในบุรุษ ดังนั้นผู้ป่วยที่ได้รับยาทรานส์เดอมอลเอสโตรเจน ควรได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเป็นระยะๆไปตามแพทย์แนะนำ
  • การใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนจะต้องระวังมิให้ยาเข้า ตา จมูก ปาก หรือช่องคลอด และห้ามมิให้ยาฮอร์โมนนี้/ชนิดนี้ ซึมเข้าแผลเปิดทางผิวหนัง เช่น แผลมีดบาด แผลไฟไหม้ กรณีที่ยาฮอร์โมนนี้สัมผัสหรือเปื้อนบริเวณแผลเปิด ดังกล่าว ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดเป็นปริมาณมากๆ
  • ผู้ป่วยที่สูบบุหรี่ หรือติดสุรา และมีการใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน จะมีความเสี่ยงต่อการเกิด โรคหลอดเลือด และโรคหัวใจ สูงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่หรือดื่มสุรา

ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนยังมีข้อพึงระวังอื่นๆอีก เช่น การใช้ร่วมกับยาบางประเภท อาจก่อให้เกิดภาวะยาตีกัน(ปฏิกิริยาระหว่างยา) หรือมีอาการข้างเคียง(ผลข้างเคียง)ที่อาจเกิดหรือไม่ก็ได้ทั้งนี้ขึ้นกับร่างกายของแต่ละรายบุคคล หรือ*กรณีใช้ยานี้เกินขนาด ก็อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้อาเจียน หรือมี ประจำเดือนผิดปกติเกิดขึ้น

ดังนั้น การใช้ยาประเภทฮอร์โมนที่รวมยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน ควรต้องมีวินัย กฎเกณฑ์อย่างเข้มงวด เพื่อประโยชน์และความปลอดภัยที่จะเกิดกับผู้บริโภค/ผู้ป่วยมากที่สุด

ควรใช้ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนแต่ละประเภทอย่างไร?

ทรานส์เดอมอลเอสโตรเจน

ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์ที่แตกต่างกันและมีวิธีใช้ดังนี้ เช่น

ก. ชนิดปิด/แปะผิวหนัง:

  • ล้างมือด้วยสบู่ก่อนและหลังใช้แผ่นแปะแบบฮอร์โมน
  • เปิดซองบรรจุอย่างระมัดระวัง ห้ามฉีกแผ่นแปะฮอร์โมนเพราะอาจทำให้การ ส่งผ่านยาทางผิวหนังของแผ่นแปะฮอร์โมนด้อยประสิทธิภาพลง
  • ปิดแผ่นแปะฮอร์โมนบริเวณผิวหนังที่แห้ง ห้ามปิดในบริเวณที่มีความมัน หรือปิดในบริเวณที่มีเส้นขน กรณีเหล่านี้ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการดูดซึม เอสโตรเจนทั้งสิ้น
  • ห้ามปิดแผ่นแปะบนราวนมหรือบริเวณผิวหนังที่ย่นไม่เรียบ ทั้งนี้มีเหตุผลเรื่องการยึดติดกับผิวหนังให้ติดแน่นไม่หลุดง่าย
  • ปิดแผ่นแปะฮอร์โมนตามระยะเวลาที่ระบุในเอกสารกำกับยา อย่าปิดแผ่นแปะในระยะเวลาที่น้อยกว่าหรือนานกว่าที่กำหนด
  • ห้ามทิ้งให้แผ่นแปะฮอร์โมนสัมผัสกับแสงแดด เพราะจะทำให้ฮอร์โมนเอสโตรเจนเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
  • หลีกเลี่ยงการปิดแผ่นแปะฮอร์โมนซ้ำที่เดิม ควรเปลี่ยนตำแหน่งการปิดแผ่นแปะทุกสัปดาห์
  • เมื่อถึงเวลาเปลี่ยนแผ่นแปะฮอร์โมน ให้ใช้นิ้วดึงลอกแผ่นแปะออกจากผิวหนังอย่างช้าๆ กรณีมีเศษแผ่นแปะติดอยู่ให้ทิ้งเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้นใช้นิ้วค่อยขัดถูเศษแผ่นแปะฮอร์โมนออกให้หมด
  • ผู้ที่ใช้แผ่นแปะฮอร์โมนปิดผิวหนังตามขั้นตอนที่กล่าวมา สามารถอาบน้ำ ว่ายน้ำ ได้ตามปกติ
  • กรณีแผ่นแปะฮอร์โมนหลุดก่อนกำหนด ให้นำแผ่นแปะดังกล่าวปิดทับผิวหนังในบริเวณใหม่ กรณีที่กาวของแผ่นแปะฮอร์โมนเสื่อมสภาพไม่ติดผิวหนัง ผู้บริโภค สามารถใช้แผ่นแปะฮอร์โมนชิ้นใหม่ แต่ต้องดึงออกตามระยะเวลาของแผ่นแปะ ฮอร์โมนชิ้นเก่า

ข. ชนิดสเปรย์ผิวหนัง:

  • กรณีเริ่มต้นใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนชนิดสเปรย์ขวดใหม่ ให้ปั๊มหัวสเปรย์ทิ้งอากาศไป 3 ครั้ง เพื่อไล่ให้ตัวยาฮอร์โมนมาอยู่ในหลอดสเปรย์และพร้อมใช้งาน
  • สเปรย์ ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนตรงผิวหนังที่สะอาดและแห้ง ห้ามสเปรย์บนผิวหนังที่มีแผลเปิด หรือบริเวณผิวหนังแตกเป็นรอยแยก ห้ามสเปรย์เข้าช่องคลอดหรือเต้านม
  • ปล่อยทิ้งยาฮอร์โมนเอสโตรเจนที่สเปรย์บนผิวหนังให้แห้งอย่างน้อย 2 นาทีก่อนที่จะใส่เสื้อผ้า และต้องทิ้งเวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนชำระล้างบริเวณที่สเปรย์
  • กรณีแพทย์สั่งเพิ่มปริมาณการสเปรย์ ให้สเปรย์ยาฮอร์โมนเพิ่มขึ้นในบริเวณ ผิวหนังที่อยู่ถัดจากพื้นที่ที่มีการสเปรย์ในครั้งแรก
  • ห้ามใช้นิ้วมือถูยาฮอร์โมนเอสโตรเจนขณะที่สเปรย์ลงผิวหนัง
  • ห้ามเด็กและสัตว์เลี้ยงสัมผัสผิวหนังที่ได้รับการสเปรย์ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ปิดขวดสเปรย์ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนให้มิดชิดหลังใช้งานทุกครั้ง
  • กรณีต้องใช้ยาสเปรย์ฮอร์โมนชนิดนี้ร่วมกับโลชั่น/ครีมกันแดด ควรทาโลชั่นกันแดดแล้วอย่างน้อย 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงสเปรย์ยาฮอร์โมนเอสโตรเจน

ค. ชนิดเจลทาผิวหนัง:

  • เมื่อเริ่มใช้ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบเจลที่เป็นลักษณะขวดปั๊ม จะต้องกดปั๊มเพื่อให้ตัวยาฮอร์โมนเข้าในหลอดปั๊ม 3–10 ครั้งเพื่อเตรียมความพร้อมการใช้งาน
  • ทำความสะอาดผิวหนังที่ต้องทาเจลฮอร์โมนให้สะอาดและแห้ง ห้ามทาเจลลงบนผิวหนังที่เป็นแผลเปิด
  • ทาเจลปนผิวหนังให้เป็นฟิล์มบางๆ ห้ามทาเจลตรงเต้านมหรือช่องคลอด
  • ห้ามให้ เด็ก สัตว์เลี้ยง มาสัมผัสบริเวณผิวหนังที่ทายาเจลฮอร์โมนเอสโตรเจน
  • ควรรอให้เจลฮอร์โมนแห้งติดผิวหนังอย่างน้อย 5 นาทีก่อนที่จะสวมเสื้อผ้า
  • หากต้องใช้ยาเจลฮอร์โมนเอสโตรเจนร่วมกับโลชั่นกันแดด ให้ทาโลชั่นกันแดดหลังจากทาเจลฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว 25 นาทีเป็นอย่างต่ำ และหลีกเลี่ยงการ ทาโลชั่นกันแดดซ้ำตรงบริเวณที่ใช้ยาเจลฮอร์โมนเอสเตรเจนเป็นเวลาติดต่อกัน เกิน 7 วัน

*****หมายเหตุ: ยาฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบเจลหรือสเปรย์ มักจะมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบในสูตรตำรับ จึงถือเป็นข้อห้ามวางผลิตภัณฑ์ใกล้กับแหล่งความร้อน และ/หรือเปลวไฟ

ขนาดการบริหารยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนเป็นอย่างไร?

ขนาดการบริหารยา/ใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน เป็นดังนี้ เช่น

ก. กรณียาเจล:

  • ผู้ใหญ่: ให้ทายาวันละ1ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์

ข. กรณียาชนิดแผ่นแปะผิวหนัง:

  • ผู้ใหญ่ ปิดผิวหนัง 1–2 ครั้ง/สัปดาห์ ทั้งนี้ขึ้นกับความแรงของตัวยาเอสโตรเจนในแผ่นแปะผิวหนัง

ค. กรณียาชนิดสเปรย์:

  • ผู้ใหญ่: สเปรย์ยาวันละ1ครั้ง หรือตามคำสั่งแพทย์

*อนึ่ง:

  • เด็ก: ห้ามใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนกับเด็ก

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมใช้ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนควรทำอย่างไร?

หากลืมใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน สามารถใช้ยาทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการใช้ยาในครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า ให้ใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนที่ขนาดปกติ

ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ท้องอืด เจ็บคอ คลื่นไส้อาเจียน การกลืนลำบาก ท้องเสียหรือไม่ก็ท้องผูก อาเจียนมีเลือดปน/อาเจียนเป็นเลือด อาหารไม่ย่อย อุจจาระมีสีเทาคล้ายสีโคลน
  • ผลต่อกล้ามเนื้อ: เช่น ปวดหลัง เกิดตะคริวที่ใบหน้า-มือ-แขน-เท้า หรือขา ปวดแขน ปวดเข่า ปวดคอ
  • ผลต่อสภาพจิตใจ: เช่น วิตกกังวล รู้สึกสับสน อารมณ์แปรปรวน
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เกิดอาการชัก วิงเวียน มีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดหัวไมเกรน
  • ผลต่อระบบสืบพันธุ์: เช่น มีประจำเดือนออกมามาก/ประจำเดือนผิดปกติ กลั้นปัสสาวะลำบาก/กั้นปัสสาวะไม่อยู่ในสตรี
  • ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น มีอาการไอ หายใจลำบาก หายใจแรง/ลึก
  • ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด: เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ แน่นหน้าอก
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น ผิวหนังบวม เกิดผื่นคัน เหงื่อออกมาก ผิวหนังบางลง
  • อื่นๆ: เช่น คลำพบก้อนเนื้อบริเวณเต้านม

มีข้อควรระวังการใช้ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้ และ/หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับ
  • ห้ามใช้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ หรือ ให้นมบุตร
  • ห้ามปรับขนาดการใช้ยาด้วยตนเอง
  • ห้ามใช้ยาอื่นใดร่วมกับยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนโดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะยาตีกัน
  • ต้องมารับการตรวจร่างกาย และการตรวจเลือดจากแพทย์/โรงพยาบาล โดยเฉพาะการตรวจเลือดดูทำงานของตับ ตรวจการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ ตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ควรใช้ยานี้ต่อเนื่องตามคำสั่งแพทย์ ห้ามหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
  • กรณีพบอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง ผิวหนังลอก แน่นหน้าอก หายใจขัด ใบหน้า-ปาก-คอมีอาการบวม ซึ่งเป็นอาการแพ้ยานี้ต้องหยุดใช้ยานี้ทันที แล้วรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนร่วมกับ ยาDasabuvir เพราะจะเกิดความเสี่ยงทำให้ตับทำงานผิดปกติ
  • ห้ามใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนร่วมกับ ยาCarfilzomib เพราะจะเกิดความเสี่ยงทำให้เกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดสูงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนร่วมกับ ยาHydrocortisone เพราะอาจ ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆสูงขึ้น เช่น ตัวบวม ความดันโลหิตสูง น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นและมีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง

ควรเก็บรักษาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนอย่างไร?

ควรเก็บยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนภายใต้เงื่อนไขตามเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ทรานส์เดอมอล เอสโตรเจนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทรานส์เดอมอล เอสโตรเจน มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Alora (อะโลรา) Watson Pharma, Inc
Climara (ไคลมารา)3M Drug
Divigel (ไดไวเจล)Orion Pharma
Esclim (เอสไคลม์) Laboratoires Fournier SA
Estraderm (เอสตราเดิร์ม) Novartis
Vivell (ไวเวลล์) Novartis
Vivelle-Dot (ไวเวลล์-ดอท) Noven Pharmaceuticals Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/estradiol-transdermal-route/proper-use/drg-20075306 [2018,Jan20]
  2. https://medlineplus.gov/druginfo/meds/a605042.html [2018,Jan20]
  3. http://www.mims.com/thailand/drug/info/divigel/?type=brief [2018,Jan20]
  4. https://www.drugs.com/drug-interactions/estradiol-index.html?filter=3&generic_only=#H [2018,Jan20]