ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Thrombin receptor antagonist)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กระบวนการเกิดลิ่มเลือด(Blood clot) ที่ช่วยปิดกั้นผนังหลอดเลือดที่เกิดบาดแผลหรือฉีกขาดนั้นจะมีความเกี่ยวพันกับการทำงานของสารชีวะโมเลกุลต่างๆที่อยู่ในเลือด หรือที่เรียกกันว่า “แฟคตอร์(Factor)” จนกระทั่งนำไปสู่การก่อตัวของเกล็ดเลือด และกลายเป็นลิ่มเลือดได้สำเร็จนั้น อาจอธิบายขั้นตอนเหล่านี้โดยสรุปเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของ กลุ่มยา/ยา “ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ (Thrombin receptor antagonist)”ได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งขั้นตอน การเกิดลิ่มเลือดอย่างง่ายๆ เป็นดังนี้

1. เกิดแผลฉีกขาดบนผนังหลอดเลือด ส่งผลกระตุ้นให้เกล็ดเลือดทำงาน

2. เกล็ดเลือดจะเข้ามาเกาะติดตรงบริเวณผนังหลอดเลือดที่ฉีกขาดโดยเข้าจับกับ สารที่เรียกว่า คอลลาเจน/Collagen (ขั้นตอนนี้ยังไม่เกิดเป็นลิ่มเลือดที่สมบูรณ์)

3. เกิดการทำงานของสารโปรตีนที่ถูกเรียกว่า แฟคเตอร์ (Factor) ชนิดต่างๆส่งผลให้ได้ เอนไซม์ ชื่อ ทรอมบิน(Thrombin) ซึ่งเป็นหนึ่งปัจจัยที่สำคัญในขั้นตอนเกือบสุดท้ายของการเกิดลิ่มเลือด

4. เอนไซม์ทรอมบินจะเปลี่ยนสารโปรตีนที่มีลักษณะเป็นเส้นใย ที่ละลายอยู่ในน้ำเลือดซึ่งมีชื่อเรียกว่า Fibrinogen ไปเป็น Fibrin มีคุณสมบัติเป็นเส้นใยที่ไม่ละลายใน น้ำเลือด Fibrinเหล่านี้จะเข้าไปรวมตัวกับกลุ่มของเกล็ดเลือดที่เกาะตัวกันจากขั้นตอนที่ 2 ทำให้เกิดรูปแบบของตาข่าย/ร่างแหที่ยึดติดกันแน่นมากขึ้น

5. ทรอมบิน ยังช่วยกระตุ้นให้มีการเปลี่ยนแปลงทางเคมีบางประการ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะทำให้โครงข่ายของ Fibrin เชื่อมโยงและยึดติดกันแน่นมากขึ้นหรือที่เรียกกันว่า Cross link

6. ในขั้นตอนสุดท้าย ยังมี เม็ดเลือดแดงและเกล็ดเลือด เข้ามาพอกตัวติดกับ Fibrin ที่ก่อตัวเป็นร่างแห ส่งผลเกิดการยึดติดกันแน่นมากขึ้น และถือเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการเกิดลิ่มเลือด

ความผิดปกติของการรวมตัวของเกล็ดเลือดและเกิดเป็นก้อนเลือด/ลิ่มเลือด(Thrombus หรือ Blood clot)ไปอุดตันตามหลอดเลือดที่อยู่ในตำแหน่งสำคัญ อย่างเช่น หัวใจ หรือสมอง จนเป็นเหตุให้เกิดโรคของก้อนเลือดอุดตันตามมา ซึ่งยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เป็นกลุ่มยารุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทใช้ต่อต้านการทำงานของเกล็ดเลือด/ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet drug) โดยตัวยานี้จะเข้ารบกวนหรือปิดกั้นเอนไซม์ทรอมบิน ทำให้เกล็ดเลือดหยุดการรวมตัวในที่สุด

สำหรับกลุ่มยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ที่ได้รับการพัฒนามีดังนี้

1. Vorapaxar: ในปี ค.ศ.2011 (พ.ศ.2554) ยานี้ถูกนำมาใช้รักษาอาการ หลอดเลือดสมองอุดตัน ตลอดจน อาการของโรคหลอดเลือดหัวใจ และมีข้อสรุปในเวลาต่อมาว่า ตัวยา Vorapaxar ลดอัตราความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคทางหลอดเลือดหัวใจ แต่เป็นยาที่เพิ่มความเสี่ยงทำให้ร่างกายมีภาวะเลือดออกง่ายขึ้น รูปแบบเภสัชภัณฑ์ของยา Vorapaxar เป็นยารับประทาน ที่มีการดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารประมาณ 100% การทำลายยานี้ในร่างกายจะเกิดที่ตับ ตัวยานี้จะอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 5–13 วัน ก่อนที่จะถูกขับทิ้งไปกับอุจจาระและปัสสาวะ และยังไม่พบเห็นการใช้ยานี้ในประเทศไทย แต่ในต่างประเทศจะรู้จักภายใต้ยาชื่อการค้าว่า Zontivity

2. Atopaxar: เป็นยาอีกหนึ่งตัวที่อยู่ในช่วงการศึกษาทางคลินิก และยังไม่มีการจัดจำหน่าย

ยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ได้รับการพัฒนาขึ้นมาโดยต้องใช้ร่วมกับยา Aspirin หรือ Clopidogrel และยังไม่มีข้อมูลยืนยันการใช้ยากลุ่มนี้ในลักษณะของยาเดี่ยวเพื่อรักษาการอุดตันของหลอดเลือดด้วยลิ่มเลือด ผู้ป่วยจะต้องมีวินัยในการใช้ยานี้และมารับการตรวจร่างกาย/มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดหมายทุกครั้ง ทั้งนี้ ยากลุ่มนี้จัดเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อรักษาโรคของหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด และอาจพบเห็นการใช้ยานี้อย่างแพรหลายในโอกาสต่อไป

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ(คุณสมบัติ)อย่างไร?

ทรอมบินรีเซพเตอร์แอนตาโกนิสต์

ยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยาต้านการก่อตัวของก้อนเลือด/ลิ่มเลือดที่เกิดความผิดปกติในการทำงาน ทางคลินิกจึงนำยากลุ่มนี้มารักษาอาการป่วยที่มีก้อนเลือดอุดตันหลอดเลือดเป็นต้นเหตุ เช่น

  • รักษาภาวะลิ่มเลือดที่อุดตันในหลอดเลือด (Thromboembolic disorder)
  • รักษากล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจ(Myocardial infarction)
  • รักษาโรคเส้นเลือด/หลอดเลือดแดงส่วนปลาย(ส่วนแขนขา)อุดตัน (Peripheral artery disease)

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดการรวมตัวเกล็ดเลือดจนกลายเป็นก้อนเลือดอุดตันใน หลอดเลือดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากเอนไซม์ที่มีชื่อว่า ทรอมบิน(Thrombin) นักวิทยาศาสตร์พบว่า โครงสร้างทางชีวะโมเลกุลของทรอมบินมีตัวรับ(Receptor)ที่เรียกว่า “ตัวรับทรอมบิน(Thrombin receptor) ” ในส่วนของตัวรับนี้เอง ที่ใช้ยึดติดกับสารอื่นๆอย่าง Fibrinogen จากนั้นจึงจะทำให้เกิดปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลงทางเคมี ตัวรับทรอมบินที่สำคัญ มีชื่อเรียกว่า ตัวรับ “Protease activated receptor-1 (PAR-1)”

ยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เป็นยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ PAR-1 ทำให้ทรอมบินไม่สามารถทำหน้าที่ของมันได้อีกต่อไป จึงส่งผลให้เกิดระงับการก่อตัวของก้อนเลือดที่ก่อปัญหาอุดตันหลอดเลือดตามมา จึงเป็นที่มาของสรรพคุณของยานี้

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ปัจจุบันยากลุ่มทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ถูกพัฒนามาเป็นยาชนิดรับประทาน

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

การใช้ยาแต่ละตัวในกลุ่มยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของอาการโรค แพทย์จึงเป็นผู้บริหารยา/ใช้ยานี้กับผู้ป่วยในแต่ละกรณีได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัยที่สุด

เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริม อะไรอยู่ เพราะกลุ่มยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ อาจส่งผลให้อาการของโรค เหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

กรณีลืมรับประทานยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถรับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ หากเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า ให้รับประทานยาที่ขนาดปกติ

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ สามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์จากยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกายดังนี้ เช่น

  • ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ผลต่อระบบประสาท: เช่น เลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกในกะโหลกศีรษะ
  • ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีผื่นคัน
  • ผลต่อระบบเลือด: เช่น มีภาวะเลือดออกง่าย เกิดโลหิตจาง
  • ผลต่อตา: เช่น เลือดออกในตา เช่น เลือดออกใต้เยื่อตา

มีข้อควรระวังการใช้ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้มีประวัติเส้นโลหิตในสมองแตก/หลอดเลือดสมองแตก (Stroke)
  • ห้ามใช้ยานี้ขณะที่บาดแผลเลือดออก รวมถึงผู้ที่มีเลือดออกจากอวัยวะภายใน ร่างกาย เช่น เลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้/ เลือดออกในทางเดินอาหาร
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์/ตั้งครรภ์ สตรีในภาวะให้นมบุตร และเด็ก
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดรับประทานยานี้โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
  • มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดหมายทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา”ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยากลุ่มทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • ห้ามใช้ยากลุ่มทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ร่วมกับยา Alteplase, Ibuprofen, และ Urokinase เพราะจะทำให้เกิดภาวะเลือดออกในร่างกายอย่างรุนแรงตามมา
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ร่วมกับยาCarbamazepine ด้วยจะทำให้ประสิทธิภาพการรักษาของยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ด้อยลง
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ร่วมกับยา Clarithromycin ด้วยจะทำให้ระดับยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ในกระแสเลือดสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายมากขึ้นตามมา

ควรเก็บรักษาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์อย่างไร?

ควรเก็บยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ ตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา ห้ามเก็บยาในช่องแข็งตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

ทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาทรอมบิน รีเซพเตอร์ แอนตาโกนิสต์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จำหน่าย เช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
ZONTIVITY (ซอนทิวิตี)MSD

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3195741/ [2017,Nov25]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Vorapaxar [2017,Nov25]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Thrombin_receptor [2017,Nov25]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/19715408 [2017,Nov25]
  5. https://www.merck.com/product/usa/pi_circulars/z/zontivity/zontivity_pi.pdf [2017,Nov25]
  6. https://www.medscape.com/viewarticle/764760_6 [2017,Nov25]
  7. https://www.wikidoc.org/index.php/Atopaxar [2017,Nov25]
  8. https://www.drugs.com/ppa/vorapaxar.html [2017,Nov25]
  9. https://www.drugs.com/sfx/vorapaxar-side-effects.html [2017,Nov25]
  10. https://www.drugs.com/drug-interactions/vorapaxar-index.html?filter=3&generic_only= [2017,Nov25]