ถุงน้ำดีอักเสบ (ตอนที่ 2)

ถุงน้ำดีอักเสบ-2

      

      ส่วนสาเหตุของถุงน้ำดีที่อักเสบ ได้แก่

  • ถุงน้ำดีอักเสบที่เกิดจากนิ่ว (Calculous Cholecystitis) ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด แต่มีลักษณะรุนแรงน้อย โดยพบร้อยละ 95 ของผู้ป่วยถุงน้ำดีอักเสบแบบเฉียบพลัน ทั้งนี้ นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากการสะสมของไขมันและเกลือที่อยู่ในน้ำดี จนเกิดภาวะน้ำดีข้น (Biliary Sludge) ที่มีลักษณะเหมือนโคลน โดยนิ่วจะเข้าไปอุดตันในท่อถุงน้ำดี (Cystic duct) ทำให้น้ำดีไม่สามารถไหลผ่านได้และสะสมอยู่ภายในถุงน้ำดี ส่งผลให้ถุงน้ำดีบวมและเกิดการอักเสบ ทั้งนี้ ผู้ป่วยประมาณ 1 ใน 5 ยังติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย
  • ถุงน้ำดีอักเสบจากสาเหตุอื่น (Acalculous Cholecystitis) พบได้ไม่บ่อยนัก แต่มักเป็นสาเหตุที่ร้ายแรงกว่านิ่วในถุงน้ำดี และพบภาวะแทรกซ้อนตามมามากกว่า โดยสาเหตุอื่น ๆ ประกอบด้วย

      o ก้อนเนื้อ (Tumor) ที่อุดกั้นทางเดินน้ำดี

      o การอุดตันของท่อทางเดินน้ำดี (Bile duct blockage) ที่เกิดจากรอยขด (Kinking) หรือรอยแผลเป็น (Scarring)

      o การติดเชื้อ เช่น เชื้อเอดส์ เชื้อไวรัสบางชนิด เป็นต้น

      o หลอดเลือดมีปัญหาจากการถูกทำลาย ทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังถุงน้ำดีลดลงจนเกิดการอักเสบ

      o ได้รับบาดเจ็บจากการประสบอุบัติเหตุ

      ทั้งนี้ อาการถุงน้ำดีอักเสบมักเกิดหลังอาหาร โดยเฉพาะหลังกินอาหารมื้อใหญ่หรืออาหารที่มีไขมันมาก ซึ่งได้แก่

  • ปวดท้องอย่างรุนแรงที่บริเวณช่องท้องขวาด้านบน (Right upper quadrant = RUQ) หรือตรงกลาง
  • อาการปวดกระจายไปยังไหล่หรือกระดูกสะบัก (Scapula) ด้านขวา
  • อาการปวดมักเริ่มด้วยการปวดเป็นพักๆ (Colicky) และมักตามด้วยการปวดต่อเนื่อง (Constant)
  • มีอาการกดเจ็บ (Tenderness) ที่ท้อง
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • เป็นไข้
  • ท้องอืด (Bloating)

      ส่วนอาการแทรกซ้อนรุนแรงที่เกิดขึ้นอาจได้แก่

  • การติดเชื้อที่ถุงน้ำดี
  • เนื้อเยื่อในถุงน้ำดีตาย (Gangrene)
  • ถุงน้ำดีทะลุ (Perforation) ซึ่งอาจเกิดจากการที่ถุงน้ำดีบวม ติดเชื้อ หรือเนื้อเยื่อตาย
  • ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
  • มะเร็งถุงน้ำดี (แต่ไม่ค่อยพบ)

      โดยผู้ที่มีความเสี่ยงในการเป็น ได้แก่

  • ผู้หญิงที่อายุ 50 ปีขึ้นไป (ผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นมากกว่าผู้ชาย)
  • ผู้ชายที่อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน (Overweight)
  • ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน
  • ผู้ที่ชอบกินอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลสูง
  • ผู้ที่มีฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น หญิงมีครรภ์ หรือผู้ที่ใช้ฮอร์โมนบำบัด (Hormone therapy)

แหล่งข้อมูล:

  1. What Is Cholecystitis?https://www.webmd.com/digestive-disorders/what-is-chloecystitis#1 [2018, April 19].
  2. Chronic Cholecystitis. https://www.healthline.com/health/chronic-cholecystitis [2018, April 19].
  3. Cholecystitis. https://emedicine.medscape.com/article/171886-overview [2018, April 19].
  4. Cholecystitis.https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cholecystitis/symptoms-causes/syc-20364867 [2018, April 19].
  5. Acute cholecystitis. https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/stomach-liver-and-gastrointestinal-tract/acute-cholecystitis [2018, April 19].