ถึงอ่านไม่ออก ก็ใช่ว่าจะโง่ (ตอนที่ 3 และตอนจบ)

ถึงอ่านไม่ออกก็ใช่ว่าจะโง่

โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือมีความสัมพันธ์กับยีน (Genes) ที่ควบคุมพัฒนาการของสมอง เป็นภาวะทางพันธุกรรมที่ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนตัวอักษรหรือคำเป็นการพูด

อย่างไรก็ดี แม้โรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือจะเกิดจากความผิดปกติของสมองและเป็นปัญหาตลอดชีวิต แต่การตรวจพบได้เร็วก็สามารถที่จะช่วยให้พัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นได้ ด้วยการใช้เทคนิคการสอนที่เหมาะสม ที่รวมถึงการได้ยิน การมองเห็น และการสัมผัส เพื่อพัฒนาการอ่าน เช่น การใช้มือสัมผัสกับรูปร่างของตัวอักษรและคำเพื่อช่วยในการประมวลข้อมูล

ยังไม่มีวิธีการทดสอบเฉพาะของโรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือ แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคได้จากการทดสอบหลายๆ อย่าง เช่น การทดสอบสายตา การได้ยิน การอ่าน และการทดสอบทางจิตวิทยา (Psychological testing)

ส่วนการดูแลนั้น ผู้ชำนาญด้านการอ่าน (Reading specialist) อาจช่วยเด็กได้ดังนี้

  • สอนเกี่ยวกับหน่วยพื้นฐานของเสียง (Phonemes) ที่สร้างเป็นคำ (Word)
  • อ่านออกเสียงดัง
  • สร้างคำศัพท์

โดยเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือตั้งแต่ตอนเรียนชั้นอนุบาลหรือประถมต้นจะสามารถพัฒนาทักษะในการอ่านได้ในชั้นมัธยม ส่วนเด็กที่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อโตอาจจะมีปัญหาในการเรียนรู้ที่จะอ่านมากกว่า

แต่การมีปัญหาในการเรียนไม่ได้หมายความเสมอไปว่า คนที่เป็นโรคความบกพร่องในการอ่านหนังสือจะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้ เพราะคนเหล่านี้อาจจะเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีพรสวรรค์ในด้านใดด้านหนี่งเป็นพิเศษก็ได้ เช่น วิทยาศาสตร์ ศิลปศาสตร์ เป็นต้น

ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำในการช่วยเด็ก ก็คือ

  • ค้นพบสาเหตุของปัญหาให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยในการพัฒนาเด็กได้ตั้งแต่เด็กอายุยังน้อย
  • อ่านออกเสียงให้เด็กฟังเมื่อเด็กอายุได้ 6 เดือน หรือน้อยกว่านั้น หรือร่วมกับเด็กในการฟังเสียงอ่านหนังสือ และเมื่อเด็กโตขึ้นก็อ่านหนังสือร่วมกับเด็ก
  • พยายามส่งเสริมให้เด็กรักการอ่าน
  • เป็นตัวอย่างในการอ่านหนังสือให้เด็กเห็น เช่น ในแต่ละวันพ่อแม่ผู้ปกครองควรหาอะไรอ่านเองด้วยในระหว่างที่เด็กอ่านหนังสือ และแสดงให้เด็กเห็นว่า การอ่านหนังสือก็ให้ความสนุกได้
  • คอยส่งเสริมและสนับสนุนในความสามารถของเด็กในด้านอื่นๆ เช่น กีฬา งานอดิเรก เป็นต้น
  • ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียนรู้ การสะกดคำ การอ่าน
  • พูดให้เด็กเข้าใจว่า ความบกพร่องในการอ่านหนังสือไม่ได้หมายความว่า จะต้องล้มเหลวในชีวิต
  • ร่วมมือกับคุณครูในการช่วยพัฒนาการอ่านของเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนทันเพื่อน
  • เข้าร่วมกับกลุ่มบุคคลที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน (Support groups) เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ

แหล่งข้อมูล

1. Dyslexia. http://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/dyslexia/basics/definition/con-20021904 [2016, August 20].

2. Understanding Dyslexia. http://kidshealth.org/en/parents/dyslexia.html [2016, August 20].

3. Dyslexia. http://www.nhs.uk/conditions/Dyslexia/Pages/Introduction.aspx [2016, August 20].